เคยสงสัยไหมครับว่าทำไมตัวที่บ้านเราถึงทวงอาหารเย็นได้ตรงเวลา หรือนั่งรอเราที่หน้าประตูได้พอดีกับที่เราเลิกงาน ทั้งที่พวกเค้าไม่มีนาฬิกาข้อมือเหมือนเรา? วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจกันว่าหมาของเรานั้น “อ่านเวลา” กันอย่างไร
เครื่องมือบอกเวลาของหมา
จริงๆ แล้วน้องหมามีเครื่องมือหลักๆ ที่ใช้ในการรับรู้เวลาอยู่ 2 อย่างครับ:
- นาฬิกาชีวภาพตามธรรมชาติ (Circadian Rhythms): เหมือนกับเราเลยครับ น้องหมามีวงจรการทำงานของร่างกายที่สัมพันธ์กับแสงสว่างและความมืดในแต่ละวัน มันบอกเค้าว่าเมื่อไหร่ควรตื่น เมื่อไหร่ควรพักผ่อน คล้ายๆ เป็นนาฬิกาปลุกธรรมชาติในตัวเค้านั่นเอง
- กิจวัตรประจำวันของเรา (Human Routines): อันนี้สำคัญกับหมามากกว่าเรา คือกิจวัตรที่เราทำซ้ำๆ ทุกวันกลายเป็นเหมือน “ตารางเวลา” ให้น้องหมาเรียนรู้ การที่เราตื่นนอน, ให้อาหาร, พาไปเดินเล่น, ออกไปทำงาน, หรือแม้แต่กลับบ้านในเวลาเดิมๆ ล้วนเป็นสัญญาณบอกเหตุการณ์ล่วงหน้าให้เค้ารู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้นต่อไป
หมาเรียนรู้เวลาจากกิจวัตรได้อย่างไร?
น้องหมาเก่งเรื่องการเชื่อมโยงเหตุการณ์ เค้ารู้ว่าพอเราตื่นนอน (สัญญาณที่ 1) เดี๋ยวก็จะได้ฉี่ (เหตุการณ์ที่ 1) แล้วจะได้กินข้าวเช้า (เหตุการณ์ที่ 2) หรือถ้าเห็นเราหยิบสายจูง (สัญญาณที่ 2) ก็แปลว่าจะได้ไปเดินเล่น (เหตุการณ์ที่ 3)
ไม่ใช่แค่การกระทำของเราเท่านั้นนะครับ แต่ “สัญญาณรอบตัว” ก็มีส่วนสำคัญ:
- เสียง: เสียงรถขยะตอนเช้า, เสียงโรงเรียนเลิกตอนเย็น, หรือความเงียบตอนกลางคืน ทั้งหมดนี้ช่วยให้น้องหมาคาดคะเนช่วงเวลาของวันได้
- กลิ่น: กลิ่นอาหารเย็นที่เริ่มโชยมา หรือแม้แต่กลิ่นตัวของเราที่เปลี่ยนไปตามอารมณ์เช่น ถ้าคนที่ทำงานที่บ้านมักจะเครียดตอนกลางวัน และเริ่มผ่อนคลายตอนกลางคืน ก็เป็นข้อมูลให้เค้ารับรู้ได้
- การสังเกต: น้องหมาฉลาดพอที่จะแยกแยะได้ว่า การที่เราแต่งตัวใส่ชุดทำงานพร้อมหยิบกุญแจรถ (สัญญาณแบบที่ 1) หมายถึงการออกไปนาน แต่ถ้าแค่ใส่ชุดอยู่บ้านแล้วเดินไปทิ้งขยะหน้าบ้าน (สัญญาณแบบที่ 2) คือการออกไปแป๊บเดียว การเตรียมตัวที่ต่างกันนี้ส่งผลต่อความคาดหวังเรื่องเวลากลับของเราในใจเค้า ถ้ากิจวัตรการออกนอกบ้านของเราเปลี่ยนไปจากเดิม อาจทำให้เค้ารู้สึกไม่แน่นอนและกังวลมากขึ้นได้
เมื่อเราหายไปนานกว่าปกติ
ถึงหมาจะนับชั่วโมงหรือวันแบบเราไม่ได้ แต่เค้ารับรู้ถึง “การผ่านไปของเวลา” (Passage of Time) ได้นะครับ เค้ารู้สึกได้ว่าวงจรชีวิตประจำวันของเค้ามัน “ขาดตอน” ไปนานแค่ไหน เช่น จำนวนครั้งของการนอน, การกิน, หรือรอบการเดินเล่นที่มันหายไปจากปกติ
ผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัด:
เวลาเรากลับมาบ้านหลังจากหายไปนานๆ (เช่น ไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ) การทักทายของน้องหมาจะ “ดีใจสุดขีด” มากกว่าตอนเรากลับจากทำงานตามปกติหลายเท่าเลยครับ นี่คือสิ่งที่บ่งบอกว่าเค้ารับรู้ถึงระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น
อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์การแยกกับเราที่ยาวนานจะส่งผลกระทบทางใจ (Traumatic) มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย:
- ความคุ้นเคย: ถ้าหมาเราเคยชินกับการที่เราไม่อยู่บ้านนานๆ หรือการไปฝากเลี้ยงตั้งแต่ยังเด็ก ก็อาจจะกระทบกระเทือนน้อยกว่าน้องหมาที่ไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้มาก่อนเลยตอนโต
- สถานที่: การได้อยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมที่คุ้นเคย (เช่น มีคนรู้จักมาช่วยดูแลให้ที่บ้าน) มักจะดีกว่าการต้องไปอยู่ในสถานที่ใหม่ที่ไม่คุ้นเคย (เช่น โรงแรมฝากเลี้ยง)
เราใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ยังไง ?
แน่นอนว่าการมีกิจวัตรที่สม่ำเสมอจะช่วยให้หมาเข้าใจและรับมือกับ “เวลา” ได้ดีที่สุด แต่เรื่องนี้เองก็มักจะไม่ใช่สิ่งที่เราหลายคนทำได้ ทั้งด้วยเหตุการณ์เร่งด่วนต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และความไม่สม่ำเสมอของตารางชีวิตหลาย ๆ คน นั่นทำให้หมาที่อาศัยกิจวัตรของเราในการดูเวลานั้นเครียดกับความเปลี่ยนแปลงเป็นพิเศษ เพราะเขายึดติดกับกิจวัตรได้มาก ๆ
วิธีที่ทางเรามองว่าดีกว่าสำหรับเจ้าของส่วนใหญ่คือการช่วยให้หมาพึ่งพาการดูเวลาผ่านกิจวัตรเราน้อยลง โดยการสร้างความไม่สม่ำเสมอให้กับเขาโดยการลองทำอะไรที่มีแบบแผนและคาดเดาได้ยากขึ้น เช่น ปกติแต่งตัวเสร็จถึงจะหยิบกุญแจออกจากบ้าน ก็ลำดับใหม่เป็นการหยิบกุญแจก่อนแล้วค่อยกลับไปแต่งตัว หรือปรับเวลาทานอาหารของหมาไป ๆ มา ๆ ให้คาดเดายากขึ้น การทำอะไรแบบนี้ช่วยให้หมามีความยืดหยุ่นมากขึ้น และลดความเครียดที่เกิดจากเวลาที่กิจวัตรเขาถูกรบกวนได้ดี