โลกของการฝึกน้องหมามันน่าสับสน โดยเฉพาะสำหรับเจ้าของมือใหม่ที่พอหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็จะเจอแต่คำแนะนำที่ขัดแย้งกันเต็มไปหมด ที่หนึ่งบอกอย่าง อีกแห่งบอกอีกอย่างแต่ที่เจอบ่อย ๆ จะเป็นคำแนะนำการฝึกที่เน้นว่าเราต้องเป็น “จ่าฝูง” (Alpha) หรือต้องแสดงอำนาจเหนือน้องหมา ซึ่งจริงๆ แล้วแนวคิดพวกนี้มันเคยได้รับความนิยมเมื่อนานมากแล้ว แต่ก็ถูกหักล้างด้วยวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ไปนานแล้วครับ
แม้ทางวิทยาศาสตร์แนวคิดนี้จะถูกหักล้างไปนานแล้ว แต่ในการฝึกหมาแนวคิดนี้ยังพบเห็นบ่อยอยู่เนี่องจากขาดการปรับหลักสูตรและอัพเดทความรู้ให้ทันสมัยขึ้น วันนี้เราจะมาเจาะลึกกันหน่อยครับว่า ความคิดเรื่องการฝึกแบบ”จ่าฝูง” มันมีที่มาที่ไปยังไง แล้วทำไมมันถึงล้าหลังไปแล้วครับ
ย้อนรอยดูที่มาของการฝึกแบบจ่าฝูง
ไอเดียเรื่องการฝึกหมาแบบ “เจ้านาย-ลูกน้อง” หรือเน้นการกดให้อยู่ใต้อาณัติเนี่ย มันเริ่มมาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษ 1900 นู่นเลย มีหนังสือฝึกหมาเล่มแรกๆ ที่เขียนโดยนายตำรวจชาวเยอรมัน ซึ่งใช้วิธีฝึกคล้ายๆ การฝึกทหาร เน้นความมีวินัย การบังคับ และการลงโทษเพื่อให้เชื่อฟัง แม้หนังสือจะแปลเป็นภาษาอังกฤษช้า แต่ลูกศิษย์ของเขาก็ได้นำแนวคิดนี้ไปเผยแพร่ต่อ อย่างเช่น การก่อตั้งโรงเรียนฝึกสุนัขในฮอลลีวูด ที่ฝึกน้องหมาในหนังดังๆ หลายเรื่อง
ต่อมา ก็มีหนังสือยอดฮิตจากนักบวชกลุ่ม New Skete ที่ยิ่งตอกย้ำแนวคิดเรื่อง “วินัย” และ “ความเป็นจ่าฝูง” พวกเขาถึงกับแนะนำเทคนิค “alpha-roll” (การบังคับให้น้องหมาหงายท้องเพื่อยอมจำนน) ซึ่งยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับหมากลายเป็นแบบ “เจ้านาย-ทาส” เข้าไปใหญ่ วิธีการที่เน้นการเผชิญหน้าและการลงโทษก็เลยฝังรากลึกในวงการฝึกสุนัข พร้อมๆ กับมุมมองที่ว่าน้องหมาคือ “หมาป่าในบ้าน” ที่ต้องยอมสยบต่อมนุษย์
การฝึกหมาแบบนี้ได้รับความนิยมอยู่กว่า 50 ปีแต่พอเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 1980 โลกของการฝึกสุนัขก็เริ่มเปลี่ยนไป มีนักวิทยาศาสตร์ นักศึกษาชีววิทยา จิตวิทยา และพฤติกรรมสัตว์ ที่สนใจพฤติกรรมน้องหมาจริงๆ เข้ามาศึกษามากขึ้น พวกเขาเหล่านี้แหละครับที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง นำเสนอวิธีการฝึกที่อิงหลักการทางวิทยาศาสตร์ และมีประสิทธิภาพมากกว่าเข้ามาแทนที่
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมานี้ มีงานวิจัยด้านหมา (Canine Science) เพิ่มขึ้นมหาศาล ทำให้เราเข้าใจพฤติกรรม การเรียนรู้ อารมณ์ และสวัสดิภาพของน้องหมามากขึ้นเยอะ มุมมองความสัมพันธ์ระหว่างคนกับหมาก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่มองแต่มุมของมนุษย์เป็นหลัก กลายเป็นความผูกพันสองทางที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งงานวิจัยใหม่ๆ เหล่านี้ ยืนยันประสิทธิภาพของการฝึกแบบให้รางวัล (Positive Reinforcement) อย่างท่วมท้น ว่านั้นได้ผลดีและมีประโยชน์กว่าการฝึกแบบลงโทษตามแนวคิด Alpha/จ่าฝูง
ถึงกระนั้น ปัจจุบันก็ยังมีการฝึกหลากหลายรูปแบบปะปนกันไป ทั้งแบบเน้นให้รางวัล (Reward Methods), แบบเน้นใช้สิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจหรือการลงโทษ (Aversive Methods) หรือแบบผสมๆ กัน (Mixed/Balanced Methods) ซึ่งก็ยังสร้างความสับสนให้เจ้าของอยู่ดี
“ฝึกแบบ Alpha” คืออะไรกันแน่?
พูดง่ายๆ คือ แนวคิดนี้มองว่าเราต้อง “คุม” ให้หมาอยู่ในสถานะที่ต่ำกว่าเราเสมอ เพื่อรักษาลำดับชั้นใน “ฝูง” (ครอบครัว) เป็นแนวทางที่มองให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human-centric) เน้นการเชื่อฟังคำสั่งโดยการใช้อำนาจเหนือ
ตรงกันข้ามกับแนวทางสมัยใหม่ที่เน้น “ให้รางวัล” (Reward-based) ซึ่งมองจากมุมของหมาเป็นสำคัญ (Dog-centric) เน้นความเป็นเพื่อนคู่หูมากกว่าการข่ม และส่งเสริมความต้องการที่สอดคล้องกันระหว่างคนกับหมา
เทคนิคที่นิยมใช้ในการฝึกแบบ Alpha ก็คือ การ “ข่ม” หรือ “ลงโทษ” ทันทีที่น้องหมาแสดงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ เช่น:
- Alpha Roll: การใช้กำลังบังคับให้น้องหมานอนหงายท้องเพื่อแสดงการยอมจำนน
- กินข้าวก่อนหมา: เพื่อแสดงว่าเราลำดับสูงกว่า
- ห้ามขึ้นเตียง/โซฟา: จำกัดพื้นที่เพื่อแสดงอำนาจ
- ต้องเดินเข้า/ออกประตูก่อนหมาเสมอ: ย้ำลำดับชั้น
- บังคับให้เดินชิดส้นเท้าตลอดเวลา: ควบคุมเบ็ดเสร็จ
ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อ “แสดง” ให้น้องหมาเห็นว่า “ใครคือบอส” หรือ “ใครคือจ่าฝูง”
ปัญหาของการฝึกแบบจ่าฝูง
อย่างแรกที่สำคัญที่สุดคือทฤษฎีจ่าฝูงนี้อิงจากความเข้าใจว่าหมานั้นมีพฤติกรรมแบบเดียวกับหมาป่า ซึ่งปัจจุบันวิทยาศาสตร์พบแล้วว่าหมาไม่ใช่สัตว์ที่มีสัญชาตญาณความเป็นฝูงอยู่เลย นั่นทำให้การฝึกโดยใช้ความเข้าใจนี้ผิดตั้งแต่แรก
อย่างที่สองคือพฤติกรรมในข้างต้น เช่น การเดินนำหมา Alpha Roll หรือการทำอะไรที่สำหรับมนุษย์เราดูวรรณะสูงกว่านั้น สำหรับหมาแล้วมันไม่มีการเชื่อมโยงไปสู่อะไร หมายถึงว่าการสอนหมาว่าอย่าเดินนำนั้นส่งผลแค่ให้หมาเรียนรู้จะไม่เดินนำ แต่ไม่ได้ทำให้หมาเรียนรู้ว่าเขามีสถานะต่ำกว่าและต้องเดินตาม เพราะหมาไม่มีความเข้าใจเรื่องชั้นวรรณะ และความเป็นจ่าฝูง
ปัญหาที่เกิดจากการฝึกแบบ Alpha (ทำไมถึง “ไม่เวิร์ค” และ “อันตราย”)
การฝึกด้วยวิธีนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์มากมายในน้องหมา หรือแม้กระทั่งทำให้ปัญหาเดิมแย่ลงไปอีก ที่เป็นแบบนี้เพราะ:
- สร้างความกลัวและความเครียด: การข่มขู่ การบังคับ และการลงโทษ ทำให้น้องหมาเกิดความกลัว เครียด วิตกกังวล และสูญเสียความไว้วางใจในตัวเจ้าของ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความสัมพันธ์ที่ดี
- พฤติกรรมแค่ถูก “กด” ไว้: เทคนิคที่ใช้ความกลัว เช่น Alpha Roll หรือการลงโทษทางร่างกาย อาจทำให้พฤติกรรมนั้นๆ หายไป “ชั่วคราว” ดูเหมือนจะได้ผล แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้แก้ “สาเหตุ” ที่แท้จริงของพฤติกรรมนั้นเลย
- อาจนำไปสู่ปัญหาที่รุนแรงขึ้น: เมื่อสาเหตุไม่ถูกแก้ และน้องหมาถูกกดดันด้วยความกลัว อาจนำไปสู่การแสดงออกที่แย่ลง เช่น ความก้าวร้าวที่เพิ่มขึ้น (กัดเพราะจนตรอก) ความกลัวที่ขยายวงกว้าง (กลัวไปหมดทุกอย่าง) หรือภาวะสิ้นหวังเรียนรู้ (Learned Helplessness – ยอมจำนนไม่ทำอะไรเลยเพราะรู้ว่าทำไปก็โดนลงโทษอยู่ดี)
- เชื่อฟังเพราะ “กลัว” ไม่ใช่ “เข้าใจ”: น้องหมาที่ถูกฝึกด้วยการข่มขู่อาจจะยอมทำตามในขณะนั้น แต่เป็นเพราะ “กลัว” การลงโทษ ไม่ใช่เพราะ “เข้าใจ” จริงๆ ว่าเราต้องการอะไรจากเขา
เหตุผลที่เราไม่แนะนำวิธีฝึกแบบจ่าฝูง
ชัดเจนเลยครับว่าทำไมการฝึกแบบนี้ถึงไม่ควรนำมาใช้:
- มันมาจากความเข้าใจที่ผิดๆ และตกยุค: แนวคิดนี้มาจากความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมฝูงหมาป่า (ซึ่งหมาบ้านไม่ใช่หมาป่า) และความสัมพันธ์ของมนุษย์กับหมา วิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสุนัขในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดเจนว่า การพยายามแสดงอำนาจเหนือน้องหมาส่งผลเสียต่อสวัสดิภาพและความผูกพันระหว่างเรากับเค้า โดยไม่สร้างการเรียนรู้ใด ๆ
- มีงานวิจัยมากมายชี้ว่ามันอันตราย: งานวิจัยจำนวนมากยืนยันว่าเทคนิคที่ใช้ในวิธีจ่าฝูง เช่น การลงโทษทางร่างกาย (กระตุกโช้กเชน, ตี, ใช้เข่าดัน, ตะคอก) ก่อให้เกิดความเจ็บปวด ความกลัว และทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของกับหมา
- Positive Reinforcement ดีกว่า: งานจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า การฝึกโดยใช้การเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement) ไม่เพียงแต่มีมนุษยธรรมมากกว่า แต่ยังให้ผลลัพธ์การฝึกมีประสิทธิภาพกว่า และสร้างความผูกพันที่แน่นแฟ้นกว่าด้วย
แล้วจะฝึกน้องหมายังไงดี? (โดยไม่ต้องเป็น “จ่าฝูง”)
อย่างที่บอกครับ ความเข้าใจเรื่องพฤติกรรมน้องหมาของเราพัฒนาไปไกลมาก การใช้กำลังหรือการข่มขู่ไม่เพียงแต่ไม่จำเป็น แต่ยังส่งผลเสียต่อการฝึกอีกด้วย วิธีการฝึกสุนัขสมัยใหม่ที่อิงหลักวิทยาศาสตร์จะเน้นใช้เทคนิค “การเสริมแรงทางบวก” (Positive Reinforcement) ที่มีมนุษยธรรม ซึ่งช่วยเสริมสร้างความผูกพันระหว่างน้องหมากับผู้ดูแล และเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้
หลักการง่ายๆ ของ Positive Reinforcement คือ:
- ให้รางวัลพฤติกรรมที่ต้องการ: แทนที่จะลงโทษพฤติกรรมที่ไม่ชอบ เราจะโฟกัสไปที่การให้รางวัล (เช่น ขนม คำชม การเล่น หรือสิ่งที่น้องหมาชอบ) เมื่อเค้าแสดงพฤติกรรมที่เราอยากเห็น
- สร้างแรงจูงใจและความรู้สึกปลอดภัย: วิธีนี้ช่วยให้น้องหมามีแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ และรู้สึกปลอดภัย เข้าใจ และกระตือรือร้นที่จะทำตาม
- สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ: การเรียนรู้ที่จะอ่านและตอบสนองต่อภาษากายและสภาวะอารมณ์ของน้องหมา จะช่วยให้เราสื่อสารกันได้ดีขึ้น ลดความเครียดและความหงุดหงิดทั้งของเค้าและของเรา
- จัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อความสำเร็จ: ผู้ฝึกแนวทางนี้จะเข้าใจความสำคัญของการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อช่วยให้น้องหมาทำพฤติกรรมที่ถูกต้องได้ง่ายขึ้น (Set dogs up for success)
สรุปเกี่ยวกับจ่าฝูง
ทฤษฎีจ่าฝูงนั้นเป็นความเชื่อเกี่ยวกับหมาที่มีมาประมาณ 100 ปีที่แล้ว และได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเริ่มต้นจากความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับหมา เพราะตั้งต้นจากการสังเกตพฤติกรรมของหมาป่า แต่หมาบ้านนั้นไม่ได้มีสัญชาตความเป็นฝูงแบบเดียวกันกับหมาป่า ทำให้การฝึกแบบจ่าฝูงที่พยายามเลียนแบบพฤติกรรมชนชั้นวรรณะของมนุษย์และหมาป่าปน ๆ กันและเอาไปทำกับหมานั้นไม่สามารถสร้างการเรียนรู้กับหมาได้ และทำได้แค่เป็นการให้ทำพฤติกรรมผิวเผินเท่านั้น และซึ่งแนวคิดนี้มักจะใช้วิธีที่รุนแรงกับหมาเพื่อแสดงความ “เป็นใหญ่” กับหมา และส่งผลเสียด้านสุขภาพของหมาในระยะยาวอีกด้วย หรือพูดสั้น ๆ ได้ว่า ทฤษฎีจ่าฝูงคือการฝึกหมาด้วยวิธีที่ผิดที่เกิดจากความเข้าใจหมาที่ล้าหลัง
และวิธีการฝึกหมาที่เป็นปัจจุบันและมีวิทยาศาสตร์รองรับคือการฝึกโดยใช้รางวัล หรือ reward-based training ที่สามารถ อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
สรุปและเรียบเรียงจาก Whole Dog Journal