โอเลี้ยงเป็นหมาเคส #สุนัขขังกรงย่านรามคำแหง ที่มูลนิธิเดอะว้อยซ์ไปช่วยมา และได้บ้านใหม่มาแล้วประมาณ 1 เดือน เป็นพูดเดิ้ลผสม เพศชาย อายุประมาณ 3 ขวบ 

Dogology ได้เจอโอเลี้ยงจากการที่คุณแม่โอเลี้ยงมาปรึกษาจากปัญหาที่ว่านอกเหนือจากแม่แล้ว โอเลี้ยงไม่เอาใครเลยในบ้านมีเห่า ขู่ และมีการฉกด้วยโดยเฉพาะกับคุณพ่อของเจ้าของ

จากที่คุยกับคุณแม่โอเลี้ยงเบื้องต้นพอจะประเมินได้ว่านี่ไม่ใช่ปัญหาความก้าวร้าว แต่เป็นปัญหาความกลัว โดยสำหรับโอเลี้ยงแล้วสถานะของเขานอกจากกับแม่แล้วจะกลัวง่าย และตอบสนองแรงจาก 2 องค์ประกอบหลัก

1. ตื่นตัวสูง (High Arousal) 

2. มองโลกในแง่ร้าย (Pressimism) 

เป้าหมายการฝึก

เป้าหมายเริ่มแรกของเราคือการพาโอเลี้ยงให้เป็นหาที่ใจเย็น หมายความเขาตื่นตัวน้อย (Low Arousal) และมองโลกในแง่ดี (Optimism) โดยเราจะช่วยเขาด้วยการ ช่วยให้เขาเรียนรู้ที่สนใจสื่งรอบตัวให้น้อยลง และมองสิ่งรอบตัวเป็นเรื่องดี

วันแรกของการฝึก

วันแรกที่เจอกัน โอเลี้ยงเห่าและขู่ค่อนข้างหนัก จนแม่เขาต้องจับอุ้มไว้แน่นให้ไม่พุ่งมาเพราะกลัวจะกัดผม ซึ่งเคสนี้ผมอยากฝึกแบบตัวเปล่า (off-leash) มากกว่าให้อยู่ในการควบคุม และเท่าที่ประเมินคิดว่าเขาจะขู่และเห่าไล่ แต่จะไม่กัด ตราบใดที่ไม่ทำให้เขากลัวมากกว่านี้ หลังจากที่ลังเลเล็กน้อยแม่โอเลี้ยงก็ยอมปล่อยโอเลี้ยงออกมา ซึ่งก็เป็นไปตามคาดคือเห่า และขู่ไล่จากระยะไกล แต่ไม่เข้ามากัด โดยในจังหวะนี้ผมก็ได้ใช้อาหารแล้วภาษากายเพื่อช่วยให้เขาสบายใจกับผมมากขึ้น ใช้ประมาณ 3 นาทีโอเลี้ยงก็หยุดไล่ และรับอาหารจากมือผม จนทำให้การฝึกเริ่มต้นได้

ฝึกความสงบ (Calmness)

เราเริ่มต้นจากการให้มันง่ายกับเขาที่จะผ่อนคลาย และรู้ว่าการผ่อนคลายคือสิ่งที่ดี ดังนั้นสิ่งแรกที่เราทำกันในครั้งนี้คือการฝึกท่าทางที่ช่วยให้เขาสงบ ซึ่งสำหรับโอเลี้ยงคือท่านอน ซึ่งนอกจากจะสงบแล้วในท่านอนเขาจะไม่สามารถเดินได้ นั่นหมายถึงในท่านี้ได้เขาจะพุ่งไปเห่าใครได้ยากขึ้น และที่สำคัญคือในท่านอนคือท่าที่ร่างกายอยู่ในสภาพผ่อนคลายได้มากกว่าท่าอื่น ๆ ซึ่งส่งผลต่อการผ่อนคลายทางสมองด้วย

ผลลัพท์ที่เห็นได้ทันทีคือในขณะที่คุณแม่ให้โอเลี้ยงอยู่ในท่านอน คนแปลกหน้าอย่างผมเริ่มเดินไปเดินมาในระยะใกล้กับน้องโอเลี้ยงได้โดยเขาไม่ตกใจเหมือนตอนแรก (ก่อนหน้านี้แม้จะรับอาหารแต่ผมจะขยับมากไม่ได้) ฝึกท่านี้เสร็จโอเลี้ยงเหมือนจะค้นพบความสบายของท่านี้เป็นครั้งแรก เริ่มไม่ค่อยจะยอมลุกแล้วครับ นอกจากนั้นผมก็ฝึกเข้าที่นอนหรือการให้สัญญาณว่า “เตียง” ให้เขาเข้านอนเองไปเพิ่ม

โดยก่อนที่จะได้เจอกันคุณแม่โอเลี้ยงแจ้งผมว่าก่อนหน้าได้มีการใช้สายจูงเพื่อออกกำลังกายและพาเข้ากรง ซึ่งผมได้ขอให้หยุดก่อน เพราะเขาไม่ค่อยให้ความร่วมมือซึ่งจะยิ่งทำให้เครียดง่าย และให้คำแนะนำเพิ่มไปคือ

  1. ใช้การฝึกแทนการออกกำลังกาย เริ่มจากแค่ท่านอนบ่อย ๆ ก็พอให้โอเลี้ยงใช้สมองเหนื่อยจนสลบไปเรียบร้อย
  2. ฝึกให้เขาเข้ากรงเองโดยไม่ต้องจูง นอกจากท่านอนแล้วก็เลยฝึกเดินเข้ากรง และเข้าที่นอนเองไปด้วยเพื่อให้ไม่ต้องกังวลในการพาเข้านอน

จบครั้งแรกของโอเลี้ยงไปแล้ว โดยการบ้านครั้งนี้คือ 1. ฝึกท่านอนบ่อย ๆ โดยค่อย ๆ เพิ่มระยะเวลา เพิ่มสิ่งรบกวน 2. ฝึกเพิ่มการบอกให้เข้ากรงและที่นอน และปรับกรงให้น่านอนขึ้นสำหรับโอเลี้ยงตามที่ให้คำแนะนำไป

เราเริ่มฝึกเช้าวันเสาร์ โดยเดิมทีคุณแม่โอเลี้ยงมีต้องไปทำงานต่างจังหวัด 2 วันในวันพฤหัสบดีและคนในบ้านไม่สามารถพาโอเลี้ยงเข้านอนได้ ทำให้อาจจะต้องพาเขาไปฝากโรงแรมซึ่งไม่ค่อยดีกับโอเลี้ยงที่กลัวและเครียดง่าย ทำให้หลังฝึกเสร็จผมก็ลุ้นอยู่ว่าจะได้ผลตามที่คาดหวังไหม 

ผลลัพท์ของการฝึกครั้งแรก

ถ้าดูเผิน ๆ เหมือนการฝึกวันนี้คือเราแค่ฝึกท่านอนไม่ใช่เหรอ ? ซึ่งถ้าเราพูดถึงแค่ท่าก็ถูกครับ แต่ในส่วนผลลัพท์ของสัปดาห์การฝึก “แค่” ท่านอนของเรา คือ

  • เช้าวันอาทิตย์มาคุณแม่โอเลี้ยงส่งคลิปคุณตา (คนที่โอเลี้ยงกลัวที่สุดในบ้าน) กำลังเล่นฝึกท่านอนกับโอเลี้ยงได้สำเร็จ
  • วันจันทร์คุณแม่โอเลี้ยงอัพเดทว่าเริ่มชอบเข้ากรงเองแล้ว และเลิกเห่าคนในบ้านแล้วด้วยแม้จะเดินเข้าใกล้ระหว่างเขานอนซึ่งปกติจะไม่ได้เลย
  • วันพุธโอเลี้ยงสงบขึ้นอย่างเห็นได้ชัด รวมถึงเข้านอนเองได้โดยไม่ต้องใช้สายจูง ทั้งบ้านลงความเห็นว่าโอเลี้ยงไม่ต้องอยู่โรงแรมแล้ว !
  • วันศุกร์คุณแม่โอเลี้ยงอัพเดทว่าการไม่อยู่บ้านครั้งแรกของแม่โอเลี้ยงผ่านไปได้ด้วยดี โอเลี้ยงเข้านอนอย่างสงบ

เหตุผลที่การแค่ฝึกท่านอนมันได้ผล เพราะจุดประสงค์ของการฝึกนั้นไม่ใช่ท่า แต่เป็นการปรับความคิดและนิสัยของเขาให้อยู่ในสภาวะใจเย็นได้มากขึ้น และชอบที่จะอยู่ในสภาวะสงบมากขึ้นด้วย สิ่งที่โอเลี้ยงเรียนรู้จากครั้งนี้ไม่ใช่วิธีการเปลี่ยนเป็นท่านอน แต่เป็นการเรียนรู้ว่าแม่เขาและคนอื่น ๆ ชอบให้เขานอนนิ่ง ๆ และมันโอเคที่เขาจะนอนเฉย ๆ โดยไม่ต้องกังวลอะไร เพราะมีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้นเวลาที่เขานอน (ได้กินขนม และคนรอบตัวอารมณ์ดี) นอกจากนั้นแล้วเมื่อเราเพิ่มสิ่งรบกวนลงไป มันจะยิ่งทำให้เขาเรียนรู้ด้วยว่ามันโอเคที่จะยังนอนสงบ ๆ แม้จะมีอะไรแปลก ๆ เกิดขึ้น

การฝึกครั้งที่สอง – โฟกัส (Focus)

หลังจากสัปดาห์แรกโอเลี้ยงเหมือนจะค้นพบว่าการนอนอย่างสงบนั้นมันดีขนาดไหน ไม่เหนื่อย สบายตัว แล้วยังมีขนมมาป้อนอีก เจอกันครั้งนี้คุณแม่เขาเล่าว่ากับคนที่บ้านตอนนี้เปลี่ยนจากเห่าใส่ เป็นการนอนใส่แล้ว

แต่การจัดการกับความกลัวนั้นนอกเหนือจากการให้โอเลี้ยงสงบแล้ว ประเด็นที่ช่วยได้คือให้เขาถูกกระตุ้นยากขึ้น โดยสำหรับโอเลี้ยงวิธีที่เราเลือกใช้คือการฝึกให้โฟกัสกับเจ้าของ เพราะเวลาที่เขาสนใจเจ้าของนั้นมันทำให้เขาสนใจสิ่งรอบตัวได้น้อยลง โดยเราจะฝึก 2 อย่าง

เริ่มจากการให้เดินตามอยู่ข้างตัวเจ้าของ ในรูปแบบที่คล้ายกับการเดินในสายจูง แต่เราไม่ใส่สายเป็นการเดินตัวเปล่าข้างเจ้าของในบ้าน เราฝึกแบบนี้เพื่อให้โอเลี้ยงชอบที่จะอยู่ใกล้ และโฟกัส กับเจ้าของ และเขาจะถูกรบกวนได้ยากขึ้นถ้าสนใจเจ้าของอยู่ รวมถึงช่วยให้เขาสงบได้ในท่าอื่นนอกจากท่านอนด้วย นอกจากนั้นคือหลังจากวันนี้เขาจะเดินเล่นรอบบ้านกับเจ้าของได้โดยไม่ต้องใส่สายจูง และสุดท้ายแล้วถ้าโอเลี้ยงจะออกนอกบ้านนี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีของการฝึกเดินในสายจูงครับ

การฝึกโฟกัสช่วงแรกโอเลี้ยงค่อนข้างเหนื่อยและนิ่งไปแล้ว นั่นทำให้เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะฝึกคำสั่ง “ไม่” และ “โอเค” คือให้รอจนกว่าเราจะให้สัญญาณว่าโอเคเขาถึงจะรับขนมได้ เป็นหนึ่งในวิธีการฝึกโฟกัส และทำให้เราพบว่านอกจากความกลัวแล้วโอเลี้ยงยังมีความขี้หงุดหงิดใจร้อน (Frustration Intolerance) ร่วมด้วย ซึ่งการฝึกนี้จะสามารถช่วยได้ดีเช่นกัน ด้วยการสอนให้เขาเรียนรู้ที่จะคอย

สำหรับการบ้านของสัปดาห์ที่ 2 คือการเริ่มใช้ “ไม่” และ “โอเค” ในชีวิตประจำวันให้เป็นนิสัยว่าให้รอก่อนจะได้อะไรจากเรา และฝึกเดินข้างตัวบ่อย ๆ ให้เป็นกิจกรรมออกกำลังกายคือการเดินเล่นด้วยกันข้าง ๆ กันรอบบ้าน และต่อยอดท่านอนโดยการทำให้ยากขึ้น เริ่มลดขนมให้ถี่น้อยลง และนอนให้นานขึ้น

ผลลัพท์ของการฝึกครั้งที่สอง

เราพบว่าการฝึก “ไม่” นั่นตรงจุดกับโอเลี้ยงมาก เพราะทำให้เขาใจเย็นลงในเวลาที่เริ่มจะเอาแต่ใจ และปกติเวลาเดินรอบบ้านจะมีวิ่งแซงไปมา ตอนนี้ชอบเดินอยู่ข้าง ๆ กันมากขึ้นแม้จะมีอะไรมากระตุ้น โดยรวม ๆ แล้วโอเลี้ยงอารมณ์แกว่งขึ้นลงน้อยลง และสงบได้มากขึ้น

การฝึกครั้งที่สาม – ความมั่นใจ (Confidence)

จากเดิมที่การต้องเดินทางไปทำงาน 2 วันเป็นเรื่องเครียด ตอนนี้้คุณแม่โอเลี้ยงวางแพลนเที่ยวต่างประเทศเรียบร้อยครับ วันนี้เป็นครึ่งทางของการเดินทางของโอเลี้ยงแล้ว และเราจะเริ่มเอาทักษะที่เรียนไปทั้งหมดมาประกอบร่างกันเพื่อช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเขา โดยเราจะสอนให้เขาเมินสิ่งรอบตัวที่มักจะทำให้เขาตกใจ และสอนให้เรียนรู้ว่าเวลามีอะไรเกิดขึ้นก็ตามให้ใจเย็น สนใจเจ้าของ และไม่ต้องตอบสนอง 

เราเริ่มด้วยการฝึกให้เขาอยู่ตรงกลางระหว่างขาเจ้าของ (Middle) เพื่อให้เขาชอบที่จะอยู่ใกล้และโฟกัสเพิ่มมากขึ้นและเป็นการวอร์มให้โอเลี้ยงเริ่มเหนื่อยนิด ๆ เพื่อให้การฝึกหลักของเราง่ายกับโอเลี้ยงมากขึ้นด้วย

ส่วนกิจกรรมหลักของเราในวันนี้คือการฝึก DMT หรือ Distraction-Mark-Treat หรือการสอนคำว่าไม่ต้องกังวลให้เขาเข้าใจ เราทำโดยการเลือก 1 คำที่จะใช้บอกเขาว่าไม่ต้องกังวล และพูดคำนี้พร้อมให้ขนมตามทุก ๆ ครั้งที่มีอะไรมาทำให้เขาสนใจ จุดประสงค์คือเขาเรียนรู้ว่าไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นจะมีแต่สิ่งดี ๆ ตามมา (อาหาร) และเขาไม่ต้องตอบสนองกับมัน เมื่อทำบ่อย ๆ สัญญาณของความสำเร็จคือการที่มีสิ่งแปลกใหม่เกิดขึ้นแล้วเขาหันมาหาเจ้าของแทนที่จะโฟกัสกับสิ่งนั้น

ของแถม: ขากลับพบว่าโอเลี้ยงยังมีเห่าอยู่ แต่จับสัญญาณได้ว่าเป็นการเห่าแบบไม่ได้เครียดแล้ว เลยใช้โอกาสนี้ฝึกโอเลี้ยงให้เห่าตามคำบอกไปด้วย เพื่อให้เราจะได้ฝึกเงียบกันต่อได้

การบ้านของสัปดาห์นี้นอกจากต่อยอดทุกการฝึกที่ผ่านมาผ่านการทำให้มันยากขึ้น และลดรางวัลลงแล้ว การบ้านหลักที่ควรทำไปเรื่อย ๆ ไปตลอดจากนี้คือการทำ DMT กับทุก ๆ สิ่งรบกวนที่เกิดขึ้นรอบตัวโอเลี้ยง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเขาในทุก ๆ สถานการณ์

ผลลัพท์ของการฝึกครั้งที่สาม

  • เมื่อวันศุกร์ระหว่างเดินเล่นรอบบ้านมีหมาอื่นเดินมาใกล้ ๆ รั่ว จากที่ปกติสติแตกไปแล้ว ครั้งนี้โอเลี้ยงหันกลับมาหาแม่และมารับขนมแต่โดยดี
  • วันศุกร์คือวันที่แผ่นดินไหว โอเลี้ยงหลับปุ๋ย…

การฝึกครั้งที่สี่ – การจัดการความหงุดหงิด (Frustration Tolerance)

ตอนเจอกันแม่โอเลี้ยงเล่าว่าทั้งสัปดาห์นี้ไม่มีเสียงเห่าเลย ปัญหาดั้งเดิมที่คุยกันก่อนหน้านี้แทบจะไม่เหลือร่องรอยแล้ว จะเหลือแค่ความขี้หงุดหงิดใจร้อนนิดหน่อยที่วันนี้เราตั้งใจจะมาเก็บตก และหลังช่วงหยุดสงกรานต์จะเริ่มพาโอเลี้ยงออกนอกบ้านกัน 

วันนี้เปิดประตูมาโอเลี้ยงทักผมด้วยการเห่าอีกแล้ว เป็นโอกาสดีที่เราจะฝึกเห่าและเงียบกันต่อ รอบนี้นอกจากจะฝึกแล้วก็มีการทำให้เป็นเกมส์มากขึ้น เริ่มมีการขยับตัว และวิ่งไปมาอย่างมีกติกาจนโอเลี้ยงเริ่มสนุก และสำหรับโอเลี้ยงที่ปกติจะเห่าด้วยความเครียดมาตลอด เมื่อการเห่ากลายเป็นเรื่องสนุกและได้รางวัลด้วย มันช่วยเคลียร์ความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ใด ๆ ที่เคยทำให้เขาต้องเห่าและขู่ และที่ตลกคือระหว่างเล่นกันก็พบว่าโอเลี้ยงเป็นลูกกตัญญูมาก ที่ไม่ว่าจะผมหรือแม่เขาขอให้เห่า ยังไงตอนเห่าก็จะหันมาทางผม คือเขาจะไม่เห่าแม่เขาเด็ดขาด

ต่อมาคือเราก็เขาเรื่องความขี้หงุดหงิดกัน เริ่มจากทำให้ “ไม่” แข็งแรงขึ้นผ่านการเล่นชักเย่อกันแบบมีกติกา โดยบอกให้เขาเราบอกโอเครับของเล่น > เล่นกัน > ปล่อย และวนไปในตอนแรกผมตั้งใจจะสอน“ปล่อย”เพิ่มด้วยเกมส์นี้ให้ แต่มีเซอไพรซ์คือเขาทำได้ดีผิดปกติในตั้งแต่ครั้ง ผมเลยหันถามคุณแม่โอเลี้ยง เขาบอกว่าเขาฝึกเองไปแล้วด้วย นั่นทำให้เราไปต่อได้เร็วขึ้นด้วยการแทรกคำสั่งอื่น ๆ ระหว่างเล่น เช่น โอเค > เล่น > ปล่อย > นอน > เห่า > โอเค

ต่อมาคือการฝึกให้รอเมื่อเปิดประตูไม่ให้พุ่งไป และเนื่องจากโอเลี้ยงไม่ชอบการนั่ง การรอออกประตูของโอเลี้ยงคือการยืนและหันมามองหน้าแม่ ถ้าทำแล้วถึงจะอนุญาตให้ข้ามประตูได้ เนื่องจากต้องเข้า ๆ ออก ๆ วันนี้เลยเป็นวันแรกที่เราได้ใช้สายจูงกับโอเลี้ยงหลังจากที่ผมขอให้หยุดใช้ไปก่อนเริ่มฝึกครั้งแรก ซึ่งตอนนี้โอเลี้ยงใส่สายจูงง่ายขึ้นแล้ว และไม่ค่อยดื้อเพราะเราฝึกการเดินใกล้ ๆ และการโฟกัสเจ้าของกันมาพอสมควรแล้ว

ครั้งนี้คือครั้งสุดท้ายที่เราจะเจอกันในคอร์สแรกของโอเลี้ยง แต่ก็มีการบ้านให้ไปทำต่ออยู่ดีเพราะหลังสงกรานต์นี้เราจะพาโอเลี้ยงออกนอกบ้านแล้ว โดยเราจะเริ่มเอารางวัลที่เป็นขนมออก และฝึกสังเกตว่าตอนนี้โอเลี้ยงต้องการอะไรและเอามาใช้เป็นรางวัล (Life reward) และหลังจากนี้ทุก ๆ ประตูของโอเลี้ยงจะต้องรอให้อนุญาตก่อนที่จะเดินออก

สรุปแล้วทั้ง 4 ครั้งของโอเลี้ยงเรียนรู้อะไรบ้าง ในแง่ของคำสั่งที่เรียนรู้นั้นคือ

  1. นอน
  2. ขึ้นเตียง
  3. เข้ากรง
  4. ตรงกลาง (Middle)
  5. เดินข้างเจ้าของ
  6. เห่า และ เงียบ
  7. ไม่ และ โอเค
  8. ปล่อย
  9. DMT
  10. รอหน้าประตู

ความเปลี่ยนแปลงของโอเลี้ยง

ตอนนี้ใจเย็นขึ้นและตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ น้อยลง หายกลัวเวลาคนเดินเข้าออกบ้านแล้ว ทุกคนในบ้านเล่นกับเขาได้ และฝึกได้ด้วย หยุดเห่าคนอื่นในบ้านไปโดยสิ้นเชิง เรียนรู้ที่จะรออาหาร และไม่พุ่งออกนอกประตู เวลาเจอหมาอื่นเข้ามาใกล้รั้วแทนที่จะพุ่งเข้าใส่เหมือนปกติก็เดินกลับมาหาเจ้าของแทน และแถมด้วยการเห่าตามคำขอได้ด้วย

ในระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือนโอเลี้ยงเปลี่ยนจากหมาขี้กลัวที่กัดคนในบ้านและไม่เคยถูกฝึก เป็นหมาที่ใจเย็น เรียบร้อย เลี้ยงง่ายและเป็นตัวเอง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้มาจากความใส่ใจและตั้งใจของคุณแม่โอเลี้ยงที่เริ่มตั้งแต่มองหาโรงเรียนฝึกที่มาฝึกที่บ้านเพื่อจะได้มีส่วนร่วมกับการฝึกได้ และก็ขยันฝึกด้วยตัวเองมาก ๆ และพยายามเพื่อโอเลี้ยงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวได้จริง ๆ ซึ่งตอนนี้ก็เป็นไปได้ตามที่ต้องการอย่างรวดเร็ว