**บทความนี้พูดถึงการรับมือกับหมาวัยรุ่น หากใครกำลังปวดหัวกับหมาเด็กอยู่ อ่านบทความหมาเด็กเราได้ที่นี่

อีกปัญหาของการเลี้ยงหมาที่ทุกบ้านต้องเจอแม้หลังจากที่เราเลี้ยงลูกหมาเราอย่างดีจนนิสัยเรียบร้อยเลี้ยงง่ายไปซะทุกอย่างมาแล้ว แต่วันดีคืนดีเราจะพบว่าลูกหมาตัวนั้นหายไปซะเฉย ๆ ที่เหลืออยู่กับเราคือเจ้าหมาดื้อที่ลืมทุกสิ่งอย่างที่เคยสอนกันหมา

นี่เป็นจุดเปลี่ยนผันอีกจุดหนึ่งของชีวิตคนมีหมาที่มักจะเกิดขึ้นในวัยประมาณ 6 – 7 เดือน หรือช่วงที่หมาเรากำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งเขาจะอยู่ในวัยรุ่นจนไปถึง 2 ขวบ หรืออาจจะถึง 3 ขวบสำหรับหมาใหญ่ ซึ่งคล้ายกับวัยรุ่นมนุษย์ วัยรุ่นของหมาก็เป็นวัยที่น่าปวดหัวกับเจ้าของสุด ๆ ไปเลย

4 เรื่องสำคัญ รับมือกับหมา 6 เดือน ถึง 2 ขวบ

ความท้าทายใหญ่ ๆ ที่เจ้าของต้องเจอในวัยรุ่น

1. หมาติดเจ้าของน้อยลง

เช่นเดียวกันกับในมนุษย์วัยรุ่นช่วง 6 เดือนของหมาคือช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายของเขาเปลี่ยนไปอย่างมาก และเป็นช่วงเวลาที่เขาจะติดเจ้าของน้อยลงและสนใจโลกภายนอกมากขึ้น ซึ่งสิ่งแรกที่เจ้าของต้องเข้าใจคือความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่การเลี้ยงหรือฝึกไม่ดี แต่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่เขาจะต้องได้สำรวจขอบเขตสิ่งที่เขาทำได้และทำไม่ได้ ได้ทดสอบว่าเขาพึ่งตัวเองได้แค่ไหน

2. คำสั่งจะได้ผลน้อยลง

อีกเรื่องที่จะเกิดขึ้นได้ชัด ๆ คือหมาจะฟังคำสั่งจากเราน้อยลง โดยเฉพาะการ recall หรือการเรียกมาหา เพราะหมา 6 เดือนอยากที่จะอยู่ใกล้เราน้อยลงและทำให้การมาหาเราเป็นตัวเลือกที่ไม่น่าสนใจสำหรับเขาเท่ากับตอนเขาเด็ก ๆ และการทำให้เราพอใจนั้นเป็นเรื่องที่เขาแคร์น้อยลง นั่นทำให้คำสั่งอื่น ๆ ก็เริ่มได้ผลน้อยลงด้วย

ทำไมหมาวัยรุ่นพฤติกรรมเปลี่ยน ?

ในวัยนี้ทั้งร่างกายและสมองของเขาเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ นั่นทำให้เขาทั้งอยากจะลองทำอะไรที่เคยทำไม่ได้ และสังเกตุเห็นสิ่งที่ไม่เคยสังเกตุได้มากขึ้น และนำมาซึ่งพฤติกรรมที่ดูเหมือนที่ฝึก ๆ มานั้นไม่ได้ผล

🦴 หมา 6 เดือนจะสนใจสิ่งรอบตัวเยอะ และยากที่จะหยุดสนใจ เราพบเห็นผ่านการที่เขาพุ่งใส่หมาตัวอื่น กระรอก หรือพุ่งเข้าไปดมกลิ่นแปลก ๆ วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้คือการฝึกให้เขาหยุดสนใจ และเรียนรู้ว่าหลาย ๆ อย่างมันไม่ใช่เรื่องของเขา

🦴 หมาวัยนี้จะตื่นเต้นง่าย และกลัวง่ายขึ้นกับเรื่องที่เคยเจอไปแล้ว และเป็นวัยที่เรื่องที่ไม่ได้กลัวตอนเด็ก ๆ อยู่ ๆ ก็จะกลัวขึ้นมาได้ใหม่ เป็นวัยที่ควรกลับมาฝึก desensitization ใหม่อีกครั้งกับความกลัวใหม่ ๆ

🦴 หมาวัยนี้จะเริ่มท้าทายขอบเขตที่เราเคยตั้งไว้กับเขา เช่น อาจจะเริ่มดึงสายจูง เริ่มพยายามขึ้นโซฟาจากที่เราเคยห้ามแล้วยอม

ช่วงหมา 6 เดือนถึง 2 ขวบเป็นช่วงที่เจ้าของต้องใจเย็น และเข้าใจเขาให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยเริ่มจากต้องรู้ว่าความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติโดยที่หมาไม่ได้มีเจตนาจะดื้อ จะท้าทาย หรือเขารักเราน้อยลง ในเวลานี้การพยายามทำความเข้าใจความต้องการหมา การทบทวนคำสั่งเก่า ๆ และฝึก soft skills ต่าง ๆ ที่เราเคยฝึกให้เขาจะช่วยให้ช่วงวัยรุ่นผ่านไปได้อย่างราบรื่นขึ้น และน่าปวดหัวน้อยลงสำหรับเราครับ

4 เรื่องสำคัญในการรับมือกับหมาวัยรุ่น (หมา 6 เดือนถึง 2 ขวบ)

1. ความสัมพันธ์สำคัญที่สุด (Relationship)

เช่นเดียวกับมนุษย์ วัยรุ่นคือวัยที่หมาเตรียมตัวสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่พึ่งพาตัวเองได้ นั่นทำให้หมาเริ่มจะท้าทายขอบเขตที่เราเคยตั้งไว้กับเขา และพยายามจะคิดอะไรด้วยตัวเองแทนที่จะเชื่อเรา แต่ต่างจากมนุษย์คือเรารู้ว่าสุดท้ายแล้วหมานั้นไม่สามารถพึ่งตัวเองได้ แต่เรายังต้องดูแลเขาอีกนาน นั่นทำให้การจัดการความสัมพันธ์ในช่วงวัยรุ่นของหมาคือหัวใจสำคัญของการจัดการพฤติกรรมวัยรุ่นของเขา

ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเรากับหมาโดยเฉพาะช่วงวัยรุ่นทำให้หมาพร้อมที่จะเชื่อเราอีกครั้งและพร้อมที่จะทำตามที่เราขอใกล้เคียงกับตอนเด็ก และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับหมาในช่วงวัยรุ่นนี้สิ่งสำคัญ ๆ คือ

  • การเล่นกับหมา – การเล่นกับหมาในรูปแบบต่าง ๆ นั้นเป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่ดีที่สุด นอกจากนั้นแล้วตัวอย่างเกมส์ในหัวข้อถัด ๆ ไปนี้คือสิ่งที่เล่นและได้ทั้งความสัมพันธ์และฝึกทักษะที่หมาวัยรุ่นควรมีด้วย
  • สร้างประสบการณ์ดี ๆ ร่วมกัน – เช่นเดียวกับการเล่น ประสบการณ์ดี ๆ รวมกันคือตัวช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี การเดินอย่างสงบสุข การไปเที่ยวด้วยกันทั้งหมดนี้ช่วยได้ดี และที่สำคัญการทำอะไรที่หมาไม่ชอบในช่วงวัยนี้จะยิ่งกระทบความสัมพันธ์มาก ๆ ดังนั้นการลงโทษและการทำร้ายหมาจะยิ่งเป็นโทษในวัยนี้

สำหรับวัยรุ่นนั้นแทนที่จะโฟกัสกับการฝึกพฤติกรรมต่าง ๆ เป็นเวลาที่เจ้าของควรหันมาฝึกสิ่งที่เป็น soft skills หรือทักษะพื้นฐานที่ติดตัวหมาไปกับทุก ๆ สถานการณ์ โดยหลัก ๆ แล้วทักษะที่เจ้าของควรโฟกัสในวัยรุ่นของหมาคือ

2. การเมินสิ่งรอบตัว (Disengagement)

ทักษะการเมินสิ่งรอบตัวเป็นทักษะแรกที่สำคัญกับชีวิตวัยรุ่นหมาที่สุดเพราะวัยนี้อย่างที่เราว่ากันข้างต้นคือ หมาจะสนใจสิ่งรอบตัวเยอะขึ้นมาก ๆ ตื่นเต้นง่ายขึ้น และกลัวง่ายขึ้นในช่วงอายุ 6 เดือน ยิ่งเราปล่อยให้หมาสนใจสิ่งรอบตัวอย่างตื่นเต้นมากเท่าไหร่ ยิ่งง่ายที่สิ่งนั้นจะพัฒนากลายมาเป็นความกลัวได้ง่ายเพราะยิ่งเขาตื่นเต้นเขายิ่งตกใจง่าย  ยกตัวอย่างเช่น ถุงขยะตามถนนทั่วไปแต่หมาเราตื่นเต้นมาก ๆ ที่เห็นและวิ่งเข้าไปดม จังหวะนั้นมีลมพัดและถุงขยะปลิวแรง จนหมาตกใจ เหตุการณ์นี้เพียงพอแล้วที่หมาจะพัฒนาความกลัวถุงขยะขึ้นมา

อีกประเด็นสำคัญของการฝึกการเมินสิ่งรอบตัวคือแม้สุดท้ายวัยรุ่นจะผ่านไปเอง แต่มันก็เป็นช่วงเวลาที่นานอย่างน้อยก็ปีครึ่ง ซึ่งสำหรับหมานั้นนานมาก ดังนั้นแม้จะยากเราก็ไม่สามารถจะรอให้จบวัยรุ่นแล้วค่อยฝึกได้ และการเริ่มต้นจากการให้เขาเมินสิ่งรอบตัวได้นั้นเป็นด่านแรกที่จะทำให้เราสามารถฝึกเขานอกสถานที่ได้ และเพื่อเปิดทักษะใหม่ ๆ เช่น การเดินแบบไร้สายจูง การเรียกมาหา การทักทายคนอื่นอย่างสุภาพ และช่วยให้เขาและเราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในวัยรุ่น

การฝึกทักษะนี้ง่าย ๆ คือ 

ระดับที่ 1: เริ่มที่บ้านโดยการให้รางวัลเมื่อหมามองมาที่เรา ให้ต่อเนื่องยิ่งเขามองนานขึ้น

ระดับที่ 2: เพิ่มความยากโดยการวางของเล่นไว้ในระยะสายตา และให้รางวัลเมื่อเขามองเรา ให้ต่อเนื่องยิ่งเขามองนานขึ้น

ระดับที่ 3: เพิ่มความยากไปอีกด้วยการโยนของเล่นแทนที่จะเป็นการวาง และให้รางวัลถ้าเขายังคงมองเรา

ระดับที่ 4: พาออกนอกบ้านและให้รางวัลเวลาที่เขาหันมามองเรา ให้มากขึ้นถ้ามีอะไรใหม่ ๆ โผล่ขึ้นมาและเขายังมองเรา

เป้าหมายของการฝึกไม่ใช่การที่หมามองเรา การมองเราเป็นโบนัสเท่านั้นแต่การมองมาที่เรานั้นหมายถึงเขาไม่ได้สนใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัว ดังนั้นถ้าไปถึงระดับที่ 4 แล้วหมาไม่มองมาที่เรา แต่ไม่ตอบสนองกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ถือว่ามาถูกทางแล้ว และให้รางวัลได้

3. ความมั่นใจ (Confident)

ควบคู่ไปกับการฝึกเมินสิ่งรอบตัว ปัญหาที่หมาวัยรุ่นจะเจอคือการถูกห้ามบ่อย ๆ นั่นเป็นเพราะวัยนี้คือวัยที่หมาจะเริ่มท้าทายขอบเขตของสิ่งที่เขาเขตทำ อะไร ๆ ที่เราเคยห้ามได้เขาจะหยิบมาทดสอบใหม่อีกครั้งหนึ่ง นี่ไม่ใช่ความดื้อแต่เป็นสัญชาติญาณของหมาที่เริ่มโตเป็นผู้ใหญ่ การทดสอบขอบเขตต่าง ๆ มันช่วยให้เขาเข้าใจโลกในฐานะผู้ใหญ่ที่ต้องพึ่งตัวเองมากกว่าตอนเด็ก

และการลองทำสิ่งที่เคยถูกห้าม และสิ่งที่ไม่เคยทำไปกับเรานั้นสิ่งที่มักจะตามมาคือการโดนห้ามใหม่อีกครั้ง วัยรุ่นจึงเป็นวัยที่มักจะโดนห้ามนู่นห้ามนี่บ่อย ๆ และทำให้ความมั่นใจของเขาสั่นคลอนได้ง่าย หมาที่ไม่มีความมั่นใจจะเครียดง่าย และมีปัญหาพฤติกรรมตามมาได้

ในด้านของความมั่นใจนี้ไม่มีการฝึกที่เจาะจงเป็นพิเศษ แต่สิ่งที่เจ้าของควรระวังคือในช่วงวัยรุ่นนี้สิ่งสำคัญคือ 

1. ฝึกเขาด้วยรางวัล และ 

2. ป้องกันไม่ให้เราต้องห้ามหมา 

ถึงตรงนี้ข้อ 1 แน่นอนว่าคือสิ่งที่เราทำกันอยู่แล้ว แต่ที่ต้องย้ำอีกทีคือช่วงวัยนี้รางวัลคือสิ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้เขาได้ดีที่สุด มันคือสิ่งที่บ่งบอกเขาได้ชัดเจนที่สุดทว่าเขาทำถูกแล้ว และในระหว่างที่เราฝึกเขาด้วยรางวัลนั้นอีกเรื่องที่ควรทำคือการลดโอกาสที่เราจะต้องห้ามเขา และวิธีที่ดีที่สุดคือการจัดการกับสภาพแวดล้อม เช่น ถ้าหมาเรากัดแทะขาโต๊ะการกั้นคอกให้เขาไม่สามารถเข้าถึงขาโต๊ะได้จะทำให้เราไม่ต้องห้ามเขาแทะ และในเวลาแบบนี้ตัวช่วยต่าง ๆ เช่นกรง คอก ประตูหมาที่เราอาจจะเคยใช้ตอนเด็ก ๆ และฝึกจนไม่ต้องใช้ไปแล้ว อาจจะเป็นเวลาที่ตัวช่วยเหล่านั้นต้องกลับมาอีกครั้งในช่วงแรกของวัยรุ่น

4. ความใจเย็น (Calmness)

หมาวัยรุ่นนั้นตื่นเต้นง่าย ควบคู่ไปกับการเมินสิ่งรอบตัว พื้นฐานความใจเย็นของหมาก็สำคัญเช่นกัน เขาจะจัดการกับตัวเองได้ง่ายกว่าถ้าพื้นฐานความใจเย็นเขาดีอยู่แล้ว และเมินสิ่งรอบตัวได้ง่ายกว่า ในขณะที่หมาที่ขาดความใจเย็นแต่แรกนั้นยากที่จะจัดการ และในการฝึกความใจเย็นสิ่งที่เราต้องการกับหมาวัยรุ่นคือเราอยากให้เขารู้สึกโอเคกับสิ่งใหม่ ๆ และตอบสนองต่อมันอย่างสงบ

ตัวอย่างการเล่นกับหมาเพื่อฝึก Calmness:

เป็นกิจกรรมที่เจ้าของควรทำบ่อย ๆ ให้เป็นอัตโนมัติตลอดวัน มากกว่าเป็นการเล่นเป็นครั้ง ๆ โดยหลักการคือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ให้เราชมหมา และให้รางวัล ตัวอย่างเช่น 

  1. มีบางอย่างเกิดขึ้น เช่น เราอยู่ในบ้านแล้วมีคนมากดออก
  2. ชมหมาด้วยคำที่เราคิดว่าจะใช้ประจำ เช่น “เก่งมาก”
  3. ให้ขนมกับหมา
  4. ควรพยายามทำเป็นประจำในทุก ๆ ครั้งที่มีสิ่งที่น่าสนใจสำหรับหมาเกิดขึ้นทั้งในบ้านและนอกบ้าน

เมื่อทำเป็นประจำหมาจะเริ่มนิ่งขึ้นเวลามีสิ่งที่เขาไม่คุ้นเคยเกิดขึ้น และหันมามองเราเพื่อหาคำชม และรางวัล ที่เรายังควรให้เขาเรื่อย ๆ ไปตลอด ทริคของการฝึกคือเจ้าของควรที่จะมีพกขนมติดตัวไว้เล็กน้อยตลอดเวลา เพื่อที่จะฝึกเขาได้เรื่อย ๆ 

หน้าตาของความสำเร็จคือการที่ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น แทนที่หมาเราจะรีบตอบสนองด้วยการพุ่งใส่หรือเห่า เขาจะหันมาหาเราก่อนเป็นอันดับแรกแทน นั่นคือหน้าตาของหมาที่ใจเย็นและไม่กังวลต่อสิ่งใหม่ ๆ นั่นทำให้การเดินจูงหมาของเราไม่ต้องลุ้นอีกแล้วว่าจะมีอะไรโผล่มากระตุ้นหมาเราไหม

เทคนิคอื่น ๆ ในการรับมือกับหมาวัยรุ่น (หมา 6 เดือน ถึง 2 ขวบ)

  • ในวัยรุ่นนี้เครื่องมือการจัดการพื้นที่เช่น กรง คอก ประตูหมา สายจูง จะกลับมาเป็นตัวช่วยที่สำคัญเพราะทำให้เราไม่ต้องห้ามหมาและกระทบความมั่นใจเขา
  • ควรเฝ้าระวังสัญญาณความตื่นเต้นของหมา ถ้าหมาเราตื่นเต้นเกินไปไม่ควรฝืนและรีบพากลับบ้าน ช่วงนี้ควรสังเกตท่าทีเขาเป็นหลัก พยายามเลี่ยงสถานที่ที่คนเยอะ ๆ เช่น Pet Expo และงานกิจกรรมต่าง ๆ
  • รางวัลที่จะให้นอกบ้านควรใช้แบบที่หมาชอบมาก ๆ โดยเฉพาะในช่วงแรกของวัยรุ่นที่เรากำลังปรับพฤติกรรมกันใหม่อยู่
  • ใจเย็นกับการฝึก แม้บางอย่างเขาจะเคยทำได้ตอนเป็นเด็ก เขาตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว ควรคิดซะว่ามันคือการเริ่มต้นใหม่และฝึกเขาในแบบที่เขาพร้อมจะเรียนรู้

วัยรุ่นคือวัยที่ยากสำหรับหลาย ๆ บ้าน และอาจจะยากกว่าวัยเด็กด้วย อะไร ๆ ที่เคยทำได้อยู่ ๆ ก็ทำไม่ได้ขึ้นมา ถึงแม้เขาจะเปลี่ยนไปแค่ไหนอย่าลืมว่าเขาก็คือลูกหมาตัวดีตัวเดิมนั่นแหละครับ และในช่วงแรกของวัยรุ่นนี้เราอาจจะต้องใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจเขาใหม่ เข้าใจการเติบโตของเขา และปรับเข้าหากันเพื่ออยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุขทั้งคู่ และทั้ง 4 ข้อข้างต้นคือสิ่งสำคัญ ๆ ที่ผมอยากให้ปรับใช้กับวัยรุ่นในบ้านเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนี้ง่ายขึ้นกับทุก ๆ ฝ่ายครับ

ส่วนถ้าใครกำลังปวดหัวกับหมาวัยเด็กอยู่อ่านเกี่ยวกับหมาวัยเด็กได้ที่นี่ครับ:

PUPPY 101: รวมวิธีเลี้ยงลูกหมา 2 เดือน ทุกเรื่องที่เจ้าของใหม่ต้องรู้จบในโพสต์เดียว