การเดินกับหมาเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่พ่อแม่หลายคนกำลังเป็นผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะถ้าหมาเราเดินอย่างเรียบร้อยโดยไม่กระชากสายจูง การเดินจูงหมาในวันอากาศดี ๆ สามารถเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ผ่อนคลายมาก ๆ ได้เลย ซึ่งเราอยากที่จะให้การเดินจูงหมาแบบชิล ๆ เป็นเรื่องที่เป็นไปได้สำหรับทุกบ้าน เลยอยากมาเล่าให้ฟังถึงปัญหาและวิธีการเดินจูงหมาแบบชิล ๆ ครับ

ปัญหาหลักของการจูงหมา

ปัญหาหลัก ๆ ของการจูงหมาคือโลกภายนอกบ้านนั้นเต็มไปด้วยสิ่งที่น่าสนใจสำหรับหมา และทั้งในรูปแบบที่ทำให้เขาอยากจะกระโจนเข้าใส่ และอยากวิ่งหนี เช่น

  • เหล่าสัตว์เล็กสัตว์น้อย เช่น กบ กระรอก นก แมลง
  • มนุษย์คนอื่น ๆ
  • พื้นผิวทางเดินที่ไม่คุ้นเคย
  • เศษขยะข้างทาง
  • เสียงรถที่ขับผ่าน
  • หมาตัวอื่น

สำหรับคนที่มีปัญหาน่าจะเคยรู้สึกว่าเวลาที่หมาเจอกับสิ่งเหล่านี้เขาอาจจะทำเหมือนกับเราไม่มีตัวตนไปเลย หรือไม่ก็ทำเหมือนเราเป็นอุปสรรคที่กีดกันระหว่างเขากับทางที่เขาจะไป ซึ่งสุดท้ายแล้วจะลงเอยด้วยการที่หมากระชากสายจูง และทำให้การเดินจูงหมาชิล ๆ ของเราก็พังลง ถึงอย่างนั้นแล้วก็ตาม ปัญหานี้มีทางแก้ครับ

การเดินในสายจูงคือทักษะที่ต้องฝึก

อย่างแรกที่เจ้าของควรทำความเข้าใจก่อนคือหมานั้นไม่เข้าใจการเดินในสายจูงโดยกำเนิดหรือโดยสัญชาตญาณ นั่นหมายถึงว่าเราไม่สามารถคาดหวังให้เขาเดินโดยไม่กระชาก และไม่เห็นสายจูงเป็นอุปสรรคชีวิตได้เองโดยที่เราไม่ฝึก ไม่ว่าเขาจะดูฉลาดขนาดไหนก็ตาม ที่สำคัญคือหมาหลายสายพันธ์มีสัญชาตญาณที่จะดึงสายอยู่แล้วด้วย โดยเฉพาะกลุ่มหมาลากเลื่อน

การฝึกเดินในสายจูงอาศัย 3 ทักษะย่อย

การฝึกหมาโดยเฉพาะการเดินในสายจูงนั้นไม่ใช่แค่การฝึกให้เขาเข้าใจว่าเขาไม่ควรกระชาก และอยู่เดินข้าง ๆ เรา เพราะถ้าแค่นั้นสิ่งที่หลายบ้าจะเจอหลังฝึกเสร็จและออกไปเจอโลกภายนอกจริง คือ “หมาทำเป็น แต่ไม่ได้อยากทำ” นั่นทำให้การเดินในสูงไม่เวิร์คในชีวิตจริง

สิ่งสำคัญคือการทำให้เขา “อยากจะเดินข้างเราไม่ว่าจะมีอะไรมารบกวนก็ตาม” ซึ่งการทำให้ได้นั้นต้องอาศัยทักษะ 3 ทักษะที่เราควรฝึกก่อนจะเดินจูงหมาชิล ๆ ได้คือ 

1. Proximity (การอยากใกล้เจ้าของ)

2. Disengagement (การเมินสิ่งรอบตัว)

3. Calmness (ควาใจเย็น)

และทั้ง 3 ทักษะนี้เจ้าของสามารถฝึกได้เองด้วยการเล่นกับเขาได้ครับ

3 ทักษะฝึกหมาง่าย ๆ เพื่อการเดินจูงหมาแบบชิล ๆ

ทักษะที่ 1: Proximity (การอยากใกล้เจ้าของ)

ทักษะขาดและเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้การเดินในสายจูงมันยากคือทักษะ Proximity ที่หมายถึงความชอบอยู่ใกล้เจ้าของหมา ในอุดมคติแล้วเราอยากให้หมาอยู่ใกล้เราที่สุดเวลาที่ออกไปข้างนอก เพื่อที่จะดูแลความปลอดภัยให้เขาได้ง่าย ๆ ดังนั้นเป้าหมายคือการฝึกให้หมาชอบที่จะอยู่ใกล้เจ้าของเมื่อออกนอกบ้าน และแน่นอนว่าถ้าหมาเลือกจะอยู่ใกล้เราตลอดเวลาการเดินจูงหมาสายจูงจะไม่ตึงแน่ ๆ และยิ่งถ้าเขาเก่งในเรื่องนี้มาก ๆ ถึงจุดหนึ่งแล้วสายจูงก็เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป (แต่ควรใส่อยู่ดีในที่สาธารณะเพื่อความปลอดภัยอื่น ๆ)

ตัวอย่างการเล่นกับหมาเพื่อฝึก Proximity:

  1. เตรียมอาหาร 2 ชนิดไว้กับตัว 1. ขนมอันที่เขาชอบมาก 2. ขนมที่เขาชอบปานกลาง
  2. ก่อนเริ่มควรเช็คว่าหมากำลังสนใจเราอยู่
  3. เมื่อหมาสนใจเราแล้ว โยนอาหารที่เขาชอบปานกลางออกไปไกล ๆ ตัวเรา ให้หมาวิ่งไปกิน
  4. เมื่อหมาเดินกลับมาหาเรา ป้อนอาหารที่ชอบมากจากมือเรา
  5. ทำซ้ำ โดยการโยนอาหารที่ชอบปานกลางออกไปไกล ๆ และเมื่อเขากลับมาป้อนอาหารที่ชอบมากจากมือ
  6. เริ่มต้นจากเล่นในบ้านเมื่อหมาคล่องแล้ว ขยับไปเป็นหน้าบ้าน ต่อด้วยนอกบ้าน และที่นอกสถานที่ ตามลำดับความยาก

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งในการเล่นกับหมาเพื่อช่วยเรื่องนี้ได้ จุดประสงค์ของการเล่นแบบนี้คือให้เขารู้สึกว่าการอยู่ใกล้เราเป็นเรื่องดี เปิดทางให้หมาชอบที่จะอยู่ใกล้เราเวลาออกนอกบ้าน และเดินจูงหมาได้ ๆ ง่าย และยังทำให้การเรียกกลับมาหาเราง่ายขึ้นด้วย

ทักษะที่ 2: Disengagement (การเมินสิ่งรอบตัว)

การที่หมาสามารถเมินสิ่งรอบตัวได้นั้นเป็นเรื่องที่ดีสำหรับทั้งเจ้าของแหละหมาในขณะที่เราดูแลหมาได้ง่ายขึ้นในระหว่างที่อยู่ข้างนอก หมาเองก็สามารถที่จะจัดการกับความเครียดของเขาได้ดีขึ้นเช่นกัน และหัวใจสำคัญคือการที่หมารู้ว่าหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นรอบตัวนั้นไม่เกี่ยวกับเขา และการเดินต่อไปหรือไม่สนใจคือตัวเลือกที่ดีที่สุด และแน่นอนว่าเมื่อเขาไม่สนใจสิ่งรอบตัวเขาก็จะไม่มีความต้องการที่จะอยากกระชากเราไปทางที่มีกบ กระรอก หมาตัวอื่น หรือใบไม้ปลิว

ตัวอย่างการเล่นกับหมาเพื่อฝึก Disengagement:

  1. เริ่มจากฝึกในบ้าน เลือก 1 ในของเล่นที่หมาสนใจ เช่น ลูกบอล และวางไว้ที่พื้น
  2. วางขนม 1 ชิ้นไว้ใกล้ ๆ ลูกบอล แน่นอนว่าหมาจะเดินไปกินขนมที่เราวางไว้ และจะมองมาที่เราหลังกินเสร็จเพื่อเช็คว่าเรามีให้อีกไหม
  3. ตอนที่เขามองมาให้เดินหนีทันที หมาจะเดินตามเรา 
  4. เมื่อหมาตามเราทันแล้วให้ขนมอย่างต่อเนื่อง 3 ชิ้นขึ้นไป – หมาจะเรียนรู้ว่าเวลาอะไรก็ตามการมองและเดินตามเราคือสิ่งที่ดีที่สุด
  5. ทำซ้ำเยอะ ๆ ยิ่งทำซ้ำหมาจะยิ่งผละจากสิ่งรบกวนเร็วขึ้น
  6. ค่อย ๆ เพิ่มระดับความยาก ให้เป็นของเล่นชิ้นที่เขาชอบมากขึ้น จนไปถึงการฝึกนอกบ้านกับสถานการณ์

    ในระหว่างการฝึกถ้าเจอว่าหมาไม่สามารถสนใจเราได้ แปลว่าเราเลือกของที่ยากเกินไป ให้ลดระดับความน่าสนใจลงและลองใหม่

ทักษะที่ 3: Calmness

อีกหนึ่งอุปสรรค์ของการเดินในสายจูงคือการที่หมาตื่นเต้นง่าย สิ่งแวดล้อมนอกบ้านเต็มไปด้วยความตื่นเต้นนอกเหนือจากการที่หมาควรจะเมินสิ่งเหล่านั้นได้แล้ว พื้นฐานอารมณ์ของหมาก็สำคัญเช่นกัน หมาที่อยู่ในสภาวะสงบใจเย็นตั้งแต่แรกจะจัดการกับตัวเองได้ง่ายกว่า ในขณะที่หมาที่ออกนอกบ้านด้วยความตื่นเต้นจนเกินไปจะเอาความตื่นเต้นนั้นลงได้ยาก แต่ที่สำคัญคือความเครียดกับความตื่นเต้นนั้นสำหรับหมาแล้วใกล้เคียงกันมากหมาที่ตื่นเต้นจะมาพร้อมกับความกังวล ในการเดินในสายจูง และรวมถึงโดยทั่วไปแล้วหมาที่ใจเย็นเป็นพื้นฐานคือหมาที่จะอารมณ์ดี เครียดยาก และไม่ขี้กลัว และในการฝึกความใจเย็นจุดประสงค์ของเราคือเราอยากให้หมารู้สึกโอเคกับสิ่งใหม่ ๆ ที่เขาจะ และตอบสนองต่อมันอย่างสงบ

ตัวอย่างการเล่นกับหมาเพื่อฝึก Calmness:

ในการฝึกเรื่องนี้กิจกรรมจะเป็นรูปแบบของสิ่งที่เจ้าของต้องทำเรื่อย ๆ มากกว่าเป็นการเล่นเป็นครั้ง ๆ โดยหลักการคือเวลาที่มีอะไรก็ตามเกิดขึ้น ให้เราชมหมา และให้รางวัล ตัวอย่างเช่น 

  1. มีบางอย่างเกิดขึ้น เช่น เราอยู่ในบ้านแล้วมีคนมากดออก
  2. ชมหมาด้วยคำที่เราคิดว่าจะใช่ประจำ เช่น “เก่งมาก”
  3. ให้ขนมกับหมา
  4. ควรพยายามทำเป็นประจำในทุก ๆ ครั้งที่มีสิ่งที่น่าสนใจสำหรับหมาเกิดขึ้นทั้งในบ้านและนอกบ้าน

 เมื่อทำเป็นประจำหมาจะเริ่มนิ่งขึ้นเวลามีสิ่งที่เขาไม่คุ้นเคยเกิดขึ้น และหันมามองเราเพื่อหาคำชม และรางวัล ที่เรายังควรให้เขาเรื่อย ๆ ไปตลอด ทริคของการฝึกคือเจ้าของควรที่จะมีพกขนมติดตัวไว้เล็กน้อยตลอดเวลา เพื่อที่จะฝึกเขาได้เรื่อย ๆ 

หน้าตาของความสำเร็จคือการที่ไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น แทนที่หมาเราจะรีบตอบสนองด้วยการพุ่งใส่หรือเห่า เขาจะหันมาหาเราก่อนเป็นอันดับแรกแทน นั่นคือหน้าตาของหมาที่ใจเย็นและไม่กังวลต่อสิ่งใหม่ ๆ นั่นทำให้การเดินจูงหมาของเราไม่ต้องลุ้นอีกแล้วว่าจะมีอะไรโผล่มากระตุ้นหมาเราไหม

ด้วยการฝึกหมา 3 ข้อนี้ถ้าทำสำเร็จแล้วนอกเหนือจากการเดินในสายจูงจะเป็นเรื่องง่ายทั้งที่เรายังไม่ได้ฝึกวิธีเดินในสายจูงเลยด้วยซ้ำเราอาจจะพบว่าเราไม่ต้องใช้สายจูงเพื่อให้หมาเดินอยู่ข้างเราด้วยซ้ำ