เจ้าของทุกคนอยากให้หมาเราเติบโตขึ้นเป็นหมาที่น่ารัก เป็นมิตร เข้ากับคนและสัตว์อื่นได้ดี สามารถพาไปไหนมาไหนได้อย่างสบายใจ แต่ในความเป็นจริง หลายคนกลับต้องเผชิญกับปัญหาหมาขี้กลัว ตื่นตระหนกกับเสียงดัง กลัวคนแปลกหน้า หรือต่อต้านการเจอหมาตัวอื่น ซึ่งปัญหาเหล่านี้บ่อยครั้งมีรากฐานมาจากการที่ลูกสุนัขไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมอย่างเหมาะสมในช่วงวัยเด็ก โดยกระบวนการสำคัญที่เรียกว่า “การเข้าสังคม” (Socialization) เป็นกุญแจดอกแรกที่จะช่วยป้องกันปัญหาเหล่านี้ และปูทางให้ลูกหมาเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ

“การเข้าสังคม” หรือ Socialization เป็นกระบวนการพื้นฐานและจำเป็นสำหรับการพัฒนาการของลูกหมา มันคือการค่อยๆ ทำให้ลูกหมาได้สัมผัสและเรียนรู้เกี่ยวกับโลกกว้างที่เขาจะต้องใช้ชีวิตอยู่ ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งแปลกใหม่นอกเหนือจากสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติที่คุ้นเคย ซึ่งรวมถึงการพบเจอผู้คนหลากหลายลักษณะ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนแปลกหน้า การได้ยินเสียงต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เสียงรถยนต์ เสียงเครื่องใช้ไฟฟ้า เสียงดังต่างๆ การเห็นวัตถุเคลื่อนไหว เช่น จักรยาน รถเข็น รวมถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับสุนัขตัวอื่น มนุษย์คนอื่นและสัตว์ประเภทต่างๆ ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดยเป้าหมายหลักคือการช่วยให้ลูกหมามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ ไม่น่ากลัว และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน

ความสำคัญของการเข้าสังคมนั้นมีมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาทองประมาณ 3-16 สัปดาห์แรกของชีวิตลูกหมา เพราะในช่วงนี้สมองของลูกหมากำลังพัฒนาเร็วมาก ๆ และสมองกำลังเปิดรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อย่างเต็มที่ ประสบการณ์ที่เขาได้รับ (หรือขาดหายไป) จากช่วงเวลานี้ จะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและอารมณ์ของเขาไปอีกนาน ลูกหมาที่ผ่านช่วงนี้มาด้วยประสบการณ์ที่ดี จะเติบโตเป็นสุนัขที่มั่นใจ ปรับตัวเก่ง ใจเย็น สามารถรับมือกับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้ดี ลดโอกาสเกิดปัญหาพฤติกรรมที่เกิดจากความกลัว เช่น การเห่ามั่ว ความก้าวร้าว หรือความวิตกกังวล

อย่างไรก็ตาม คำว่า “การเข้าสังคม” เป็นคำที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย หลายคนเอาไปตีความหมายตรงตัวว่าต้องพาลูกหมาไปทักทาย เล่น หรือคลุกคลีกับทุกคนและทุกสิ่งที่เจอ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทำแบบนั้นอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี และทำให้ลูกหมาตื่นเต้นหรือหวาดกลัวเกินไปได้ หัวใจสำคัญของการเข้าสังคมที่ถูกต้อง นั้นอาจควรเรียกว่า “การเปิดโลกให้หมา” มากกว่า เพราะไม่ได้เน้นที่ปริมาณของสิ่งที่เจอ แต่เน้นที่ “คุณภาพ” ของประสบการณ์ มันคือการสร้างความรู้สึกเชิงบวกและความมั่นใจให้ลูกหมาเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสิ่งใหม่ๆ สอนให้เขารู้สึกสงบและรับมือกับโลกรอบตัวได้อย่างมั่นใจ 

การพาเข้าสังคมแบบเก่า

ด้วยความสำคัญขนาดนี้จึงไม่แปลกที่การเข้าสังคมเป็นหนึ่งในคำแนะนำที่พบบ่อยที่สุดสำหรับลูกสุนัข อย่างไรก็ตาม คำแนะนำเกี่ยวกับการเข้าสังคมมักมาพร้อมกับปัญหา เพราะเป็นเรื่องที่ทำผิดพลาดได้ง่าย

ในอดีต คำแนะนำเกี่ยวกับการเข้าสังคมส่วนใหญ่มักเน้นการให้ลูกสุนัขได้พบเจอผู้คนจำนวนมากที่มีลักษณะแตกต่างกัน โดยมักจะอยู่ที่ 50 ถึง 100 คน และสัมผัสกับสิ่งของและเสียงทุกประเภทที่เราจะนึกออกได้ โดยทั้งหมดนี้ต้องทำภายใน 16 สัปดาห์แรก ซึ่งบางครั้งอาจจะมี Checklist มาให้เพื่อติดตามผล

ทำไมการพาเข้าสังคมแบบเก่าถึงไม่เวิร์ค

งานวิจัยที่ระบุว่าช่วงเวลาที่สมองลูกสุนัขเปิดรับสิ่งต่าง ๆ มากที่สุดก่อนที่จะค่อย ๆ ปิดตัวลงหลังอายุประมาณ 16 สัปดาห์นั้นเป็นที่แพร่หลายมาประมาณ 40 ปีที่แล้ว และปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่โต้แย้งได้มากพอ นั่นหมายความว่าช่วง 16 สัปดาห์แรกยังคงเป็นช่วงเวลาทองของการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในลูกหมา

อย่างไรก็ตามปัญหาของเรื่องนี้ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ที่อยู่เบื้องหลัง แต่เป็นปัญหาของการใช้งาน เพราะวิธีการมักแนะนำให้เจ้าของทำภายใน 16 สัปดาห์แรกที่ต้องพาลูกหมาไปพบเจอผู้คนจำนวนมากที่มีลักษณะแตกต่างกัน และสัมผัสกับเสียงและกลิ่นแปลก ๆ อีกมากมาย วิธีนี้แค่ฟังก็เหนื่อยและเครียดทั้งคนทั้งหมาแล้วใช่ไหมครับ

การใช้วิธีแบบ checklist นอกจากเราที่เครียดแล้ว ยังทำให้เจ้าหมาเด็กของเราก็เครียดไปทั้งวัยเด็กเลย อีกปัญหาของการทำวิธีนี้คือเรามักอดไม่ได้ที่จะทำมันด้วยความเร่งรีบ และไม่ทันสังเกตอาการว่าหมาเด็กเราเขาพร้อมไหม ทำให้ได้ผลตรงกันข้ามกับที่ตั้งใจ

ข้อเสียของการพาไปเจอมากเกินไป

การพาหมาไปเจอสิ่งใหม่มากเกินไปมักนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นปัญหาใหญ่ ๆ 2 เรื่อง

  1. ตื่นเต้นเกินเหตุ: หมาของเราอาจคิดว่าหมาทุกตัวในสวนสาธารณะเป็นเพื่อน คนแปลกหน้าทุกคนเข้ามาเพื่อให้เขากระโดดใส่ และทุกประสบการณ์คือสิ่งที่มันต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยว เขาจะตื่นเต้นกับชีวิตมากเกินไป โดยคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของเขา
  2. ความหวาดกลัว: ในทางกลับกัน การให้เผชิญสิ่งต่างๆ มากเกินไป อาจนำไปสู่สุนัขที่หวาดกลัวหรือมีปฏิกิริยาตอบสนองเชิงลบ ประสบการณ์เชิงลบเพียงครั้งเดียวสามารถลบล้างประสบการณ์เชิงบวกทั้งหมดได้ นั่นเป็นเพราะหมามีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดมากกว่าแสวงหาความสนุก และประสบการณ์แย่ๆ เพียงครั้งเดียวสามารถมีน้ำหนักมากกว่าประสบการณ์ดีๆ 100 ครั้ง

เป้าหมายคือการฝึกคือการเตรียมตัวสำหมาเราสำหรับสถานการณ์ ไม่ใช่การพาไปฝึกในสถานการณ์จริงในครั้งเดียว สิ่งสำคัญในการเข้าสังคมคือการเตรียมหมาของเราให้พร้อมรับมือกับโลกได้อย่างมั่นใจ

หัวใจสำคัญของการเข้าสังคม

คำว่า Socialize หรือแปลตรง ๆ ว่าเข้าสังคมจริง ๆ แล้วผมไม่ค่อยจะอยากใช้เท่าไหร่ เพราะประเด็นสำคัญของมันไม่ใช่การให้ไปทักทาย ไปเล่นกับผู้คน หรือหมาตัวอื่น แต่มันคือการเปิดประสบการณ์การพบสิ่งใหม่ ๆ ให้กับคุณลูกหมา ดังนั้นจะในที่นี้จะขออนุญาตเรียกว่า “การเปิดโลกให้หมา” แทนนะครับ

เพราะหมาคือสัตว์ที่จะไม่ได้โตในป่าเหมือนสัตว์อื่น แต่อยู่ในเมืองที่มนุษย์สร้างขึ้น ที่เต็มไปด้วยมนุษย์คนอื่น ๆ และประดิษฐ์ของมนุษย์ที่สัญชาตญาณความเป็นสัตว์โดยดั้งเดิมในตัวหมาไม่ได้คุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้

ดังนั้นหลักการสำคัญของการเปิดโลกให้หมาคือการเตรียมลูกหมาให้พร้อมใช้ชีวิตในโลกมนุษย์ไปกับมนุษย์อย่างมั่นใจ และสอนให้พวกเขาคุ้นเคยกับผู้คน สิ่งของ สุนัขตัวอื่น ยานพาหนะ เสียงต่าง ๆ และสิ่งอื่น ๆ ที่จะต้องเจอในชีวิต พร้อมกับเปิดรับสิ่งที่ไม่คุ้นเคยที่อาจต้องเจอในอนาคต

เพื่อการนั้นสิ่งที่เราต้องทำหลัก ๆ คือการสร้างประสบการณ์ที่ดีในการพบเจอสิ่งเหล่านั้นให้กับเขาตั้งแต่เด็ก และให้เขาเห็นสิ่งใหม่ ๆ รอบตัวเป็นเรื่องดี

การเปิดโลกให้หมาแบบที่ควรเป็น

การพาเข้าสังคมแบบเน้นปริมาณและอิงจาก Checklist โดยหลักการนั้นไม่มีอะไรผิด แต่ยากที่ทุกคนจะทำได้จริง

วิธีที่ดีกว่าคือการพาหมาไปเปิดโลกโดยเน้นคุณภาพของประสบการณ์ในการได้เจอสิ่งใหม่ ๆ มากกว่าปริมาณของสิ่งที่เจอ ด้วยการสอนให้หมารู้ว่าเขาสามารถสำรวจโลกมนุษย์นี้ได้อย่างปลอดภัยไปกับเรา

แทนการพยายามให้เขาคุ้นเคยกับทุกอย่างที่อาจจะเจอในชีวิตด้วยการพาไปเจอให้หมดด้วยการใช้ Checklist ในเวลาที่จำกัด เราเปลี่ยนเป็นการเน้นคุณภาพโดยการสร้างประสบการณ์ที่ดีเวลาเจอสิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้หมาคุ้นเคยเข้าใจว่า “สิ่งใหม่ = ดีไว้ก่อน” ที่จะทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันเพื่อให้แม้จะหมด 16 สัปดาห์แรกไปแล้ว หมาก็จะไม่กลัวสิ่งใหม่ได้ง่าย ๆ

โดยสรุปแล้วการ socialize หมาที่ดีนั้นไม่ใช่

  • พาหมาไปเจอคนใหม่ ๆ ให้ครบจำนวนที่กำหนด
  • ให้หมาได้เจอกับสิ่งของใหม่ ๆ ตามลิสต์ที่กำหนดไว้
  • พาหมาไปอยู่ในสถานการณ์ที่เขาไม่พร้อมจะรับมือ ซึ่งนำมาสู่ความกลัวและความเครียด

แต่ภาพของการพาหมาเปิดโลกควรเป็นแบบนี้

  • ฝึกหมาให้รู้ว่าสิ่งใหม่ ๆ นั้นเป็นเรื่องที่โอเค
  • ฝึกหมาให้รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวนั้นส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องของเขา
  • ฝึกหมาให้รู้ว่าเราคือพื้นที่ปลอดภัยในทุก ๆ สถานการณ์

ความสำเร็จหมายความว่าเวลาที่เราพาหมาออกไปนอกบ้าน เช่น ไปเราเดินจูงหมาที่สวนสาธารณะแล้วเขาเจอกระรอกเป็นครั้งแรก หมาจะไม่ตกใจเมื่อเห็น แต่ก็ไม่พยายามจะเข้าหากระรอก และอยากจะอยู่ใกล้ ๆ เรามากกว่า

การพาลูกหมาเปิดโลกที่ดีทำอย่างไร ?

ว่าด้วยหลักการกันไปแล้วครับ ทีนี้มาดูวิธีกันบ้าง โดยในการฝึกหมาหัวข้อนี้สิ่งสำคัญคือให้เราทำเป็นชีวิตประจำวันตลอดเวลาที่เราใช้เวลากับหมาได้เลย โดยไม่ต้องแบ่งเวลาออกมาเป็นพิเศษ

เตรียมตัวให้หมาพร้อมก่อนเริ่มออกจากบ้าน

อย่างที่เราพูดกันตอนแรกว่าเรื่องของโอกาสทองของ 16 สัปดาห์แรกนั้นเป็นความจริง แต่ส่วนที่เป็นปัญหาคือการพยายามเร่งรีบใช้โอกาสนั้นโดยไม่สนใจความพร้อมของหมา และทำให้นอกจากเครียดแล้วยังได้ผลลัพท์ตรงกันข้ามกับที่ต้องการด้วย ดังนั้นการใช้ประโยชน์จากมันเราต้องลดความเร่งรีบลง และเน้นความพร้อมของหมามากขึ้น

โดยเราเริ่มจากการฝึก การละความสนใจ การตอบสนองอย่างสงบ และการอยู่ใกล้เจ้าของผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่วันแรกที่หมาเข้ามาในบ้าน และให้เขาค่อย ๆ ได้เจอกับสิ่งรอบตัวในบ้านโดยยังไม่จำเป็นต้องพาหมาออกนอกบ้าน

เมื่อออกจากบ้านแล้ว

ช่วงที่ลูกหมาพอจะเริ่มออกจากบ้านได้มากขึ้นแต่ยังมีความเสี่ยงเรื่องโรคอยู่ จะเริ่มในเดือนที่ 3 หรือสัปดาห์ที่ 12 ซึ่งจะตรงกับเวลาที่ถ้าเราฝึกหมาทำได้ดีกับข้าวของและคนในบ้านแล้วก็เริ่มออกนอกสถานที่ได้

เนื่องจากวัคซีนยังไม่ครบดีการออกนอกสถานที่ควรอยู่ในตะกร้าในพื้นที่ปิดที่ปลอดภัยจากเชื้อโรคและมีหมาจรน้อย เริ่มจากสถานที่ที่ผู้คนน้อย ๆ ไปจนถึงที่ที่คนเริ่มเยอะขึ้น และมีสิ่งแปลก ๆ เยอะขึ้นได้

ในขั้นนี้เราก็ไม่ต้องซีเรียสกับจำนวน แต่ให้ชัวร์ว่าเวลาที่เขาเจออะไรก็ตามตอนที่อยู่ข้องนอกเขามีประสบการณ์ที่ดีกับมัน สังเกตจากการที่เขามองมันโดยไม่ตอบสนอง ไม่พยายามพุ่งเข้าใส่ และไม่แสดงอาการเครียดออกมา เพราะเป้าหมายคือฝึกการออกจากบ้านโดยที่ลูกหมาไม่เครียดแม้เจออะไรใหม่ ๆ นั่นเอง

การพาหมาเปิดโลกที่ดีเราเน้นฝึกอะไร ?

ที่ในการสร้างภูมิคุ้นกันต่อสิ่งใหม่ ๆ ให้ลูกหมานั้น เราเน้นการเปิดโลกโดยการฝึกด้วยเกมก่อน เพื่อกระตุ้นให้ลูกสุนัขแก้ปัญหา เรียนรู้การรับมือกับสถานการณ์ใหม่ ๆ และสร้างความมั่นใจในแบบที่สนุกและไม่กดดัน การเปิดโลกที่ดีไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกลางแจ้งหรือในสภาพแวดล้อมที่ตึงเครียด สามารถเริ่มต้นได้ที่บ้านของเราเอง ในจังหวะที่เหมาะสมกับเราและหมา นั่นทำให้เรายิ่งเริ่มได้เร็วด้วยการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะออกสู่โลกภายนอกจริง ๆ

หัวข้อที่เราจะฝึกเพื่อพาหมาเข้าสู่โลกกว้าง:

  • เน้นการละความสนใจ (Disengagement) : หนึ่งในประเด็นแรก ๆ ที่เราสอนลูกหมาคือการละความสนใจ ซึ่งหมายถึงการช่วยให้เขาเรียนรู้ว่าไม่ใช่ทุกสิ่งที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง โลกนี้นั้นกว้างใหญ่และส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องของคุณลูกหมาเราต้องแคร์
  • ส่งเสริมการตอบสนองอย่างสงบ (Calm response): การเจอกับโลกภายนอกที่ดีคือความสงบเวลาเผชิญกับสิ่งแปลกใหม่ หากลูกหมาของเราไม่ตอบสนองเวลาเจอสิ่งใหม่ นั่นคือความสำเร็จ เพราะเป้าหมายของเราคือให้พวกเขาสังเกตโลกอย่างสงบ ไม่ใช่ด้วยความตื่นเต้นหรือความกลัว
  • ส่งเสริมการอยู่ใกล้เจ้าของ (Proximity): ทำให้เขารู้สึกดี และปลอดภัยเวลาที่อยู่ใกล้เรา เพื่อให้เวลาอยู่ต้องสถานการณ์ที่น่ากังวลสิ่งแรกที่หมาทำคือการหันมาหาเราเพื่อดูท่าที และทำให้หมาสบายใจที่จะสำรวจโลกถ้ามีเราอยู่ นั่นทำให้เราดูแลความปลอดภัยให้เขาง่ายขึ้นด้วย

ตัวอย่างกิจกรรมเตรียมความพร้อม

1. การฝึกหมาให้ละความสนใจ

สิ่งที่ได้จากกิจกรรมนี้คือหมาจะเห็นสิ่งใหม่เป็นเรื่องดีทำให้เขาไม่กังวลเวลามีอะไรใหม่ ๆ นอกจากนั้นยังกระตุ้นให้หมาหันมาหาเราเวลาที่เจอสิ่งใหม่ ๆ ด้วย

สิ่งที่ต้องมี

  • ขนมที่หมาชอบ
  • คำชมที่จะใช้เป็นประจำ (ใช้คำเดิมเสมอ เลือกคำที่จะไม่เผลอพูด เช่น ใช้คำภาษาอังกฤษว่า “Good” หรือ “Nice” และพูดด้วยน้ำเสียงสงบเสมอ)
  • หมา

การสอนเรื่องนี้ทำได้ง่าย และมีเป็นประโยชน์กับหมามาก ๆ โดยวิธีง่าย ๆ คือ “อะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม ชม และให้ขนม” ตัวอย่างเช่น

  • กระรอกวิ่งผ่าน > ชม >ให้ขนม
  • มีคนกดกริ่งบ้าน > ชม > ให้ขนม
  • คนแปลกหน้าเข้าบ้าน > ชม >ให้ขนม

การให้ขนมเวลามีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นเป็นการบอกเขาว่าสิ่งนี้ดีครับ และการมีคำชมคั่นกลางเป็นเพราะหลายครั้งเราอาจจะไม่สามารถให้อาหารเขาได้เลยทันทีเวลามีอะไรเกิดขึ้น คำชมที่มาคั่นกลางจะช่วยให้เขาเข้าใจว่าขนมที่กำลังจะตามมานั้นเราให้เพราะอะไร นอกจากนั้นแล้วน้ำเสียงที่สงบจะช่วยให้หมาเรียนรู้ไปด้วยว่าเรื่องนี้เจ้าของเขาไม่กังวล เขาเองก็ไม่ต้องกังวลด้วย

กิจกรรมนี้เราทำได้ตลอดเวลาในทุก ๆ วัน ตลอดเวลาครับ โดยช่วงแรก ๆ ที่เขามาอยู่ด้วยทุกอย่างจะใหม่สำหรับเขา แนะนำให้ใช้รางวัลที่เขาชอบมาก ๆ เพราะสำหรับบางตัวถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นน่าสนใจเกินไปเขาอาจจะไม่ยอมกินรางวัลที่ชอบกลาง ๆ พอเขาเริ่มชินกับสิ่งนั้นแล้วเราค่อยลดระดับรางวัลลงมาได้

ช่วงสัปดาห์แรกแค่สิ่งของในบ้านก็เยอะมากแล้ว ดังนั้นไม่ต้องรีบพาเขาออกจากบ้านครับ พอเขาโอเคกับทุกอย่างในบ้านแล้วเราค่อยเริ่มจากของนอกบ้านทีละนิดละหน่อย ก่อนที่จะค่อย ๆ พาออกนอกบ้านทีละขั้น ๆ ไป

สิ่งที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษในการฝึกแบบนี้คือจำพวกเสียงดังทั้งหลาย เช่น ฟ้าร้อง กริ่ง เครื่องดูดฝุ่น เพราะทำให้หมากลัวได้ง่าย ของพวกนี้ควรที่จะเริ่มจากเสียงเบาก่อน แล้วค่อยเพิ่มระดับเสียง เช่น ก่อนที่หมาจะเจอฟ้าร้องจริง ๆ แนะนำให้เปิดเสียงฟ้าร้องเบา ๆ ไปก่อนได้

สัญญาณที่บอกว่าเรากำลังประสบความสำเร็จคือ การที่หมาหันมาทางเราเวลามีอะไรใหม่ ๆ เกิดขึ้น นั่นแปลว่าหมารอคำตอบจากเราว่าสิ่งนี้โอเคไหม ถึงจุดนี้อย่าหยุดทำนะครับ ทำต่อไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิตเขาได้เลย ให้เขาติดเป็นนิสัยในการหันเข้าหาเราเวลามีเรื่องใหม่ ๆ เกิดขึ้นไปเลย

2. การฝึกหมาให้ใจเย็น

การฝึกนี้จะทำให้หมา และโดยเฉพาะลูกหมาที่อยู่นิ่งไม่เป็นเริ่มเรียนรู้ว่าการนอนนิ่ง ๆ นั้นเป็นเรื่องดี และจะส่งผลต่อความใจเย็นนอกบ้านด้วยเมื่อเขาชอบการอยู่อย่างสงบแล้ว

สิ่งที่ต้องมี:

  • ขนมที่หมาชอบกลาง ๆ
  • เตียง หรือ กรง (ถ้ามี)
  • หมา

สิ่งที่เราจะทำคือการให้ขนมเวลาเขาสงบ ฟังดูง่ายใช่ไหมครับ ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าหมาสงบ ? สำหรับการฝึกนี้เรานิยามพฤติกรรมสงบของหมาคือ การที่เขาอยู่ในท่านอน และสำคัญคือเขาต้องอยู่ในท่านี้โดยที่เราไม่ได้บอก

วิธีการ

  1. ใช้ชีวิตไปตามปกติ คอยสังเกตุหาจังหวะที่หมานอนลงไปเอง
  2. หมานอนเอง
  3. ชมอย่างสงบ
  4. ย่องไปให้รางวัลโดยพยายามไม่ให้หมาลุก

ความยากของกิจกรรมนี้ได้แก่:

  • การรอให้หมาเด็กนอนเอง – คนที่มีหมาเด็กจะรู้ครับว่าการรอให้เขานอนเองนี่ไม่ง่าย อาจจะต้องรอนานด้วย ตัวช่วยที่ช่วยได้คือกรง และเตียงหมานั่นเองครับ การมีพื้นที่สงบ ๆ ที่ดึงดูดให้เขาเข้าไปนอนนั้นจะช่วยกระตุ้นให้เขาเข้านอนเองง่ายขึ้น
  • รางวัลทำให้หมาตื่น – นี่คือส่วนที่ยากที่สุดเลย เพราะเมื่อหมาล้มตัวลงนอนแล้วนั้น เมื่อเราชม หรือหยิบขนมเข้าไปใกล้ ๆ หมามักจะตื่นเต้นออกจากท่านอนขึ้นมาทันที วิธีการที่ช่วยได้คือในการฝึกนี้พยายามเลือกขนมที่เขาไม่ได้ชอบมากนัก เช่น อาหารปกติของเขาอาจจะเพียงพอแล้วสำหรับหมาส่วนใหญ่ และวิธีการเสิร์ฟของเราต้องพยายามไม่ให้เขารู้ตัวโดยการค่อย ๆ หยิบไปวางตรงหน้าที่กำลังนอนอยู่ของเขา คำชมเองก็ต้องเบา ๆ ใจเย็น และไม่ดีใจจนเกินไป เช่น กระซิบเบา ๆ ว่า “เก่ง~”โดยอาจจะต้องพยายามหลายครั้งหน่อยนะครับ แต่สุดท้ายแล้วจะทำได้แน่นอน และจะง่ายขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย

ความสำเร็จของกิจกรรมนี้สังเกตได้จาก:

  • หมาจะนอนบ่อยขึ้น
  • หมาถูกรบกวนได้ยากขึ้น แม้จะมีอะไรแปลก ๆ เกิดขึ้น เช่น กระรอกวิ่งผ่านก็นอนต่อไป

เมื่อถึงขั้นนี้แล้วเราอาจจะปรับเป็นการให้รางวัลเวลาเขานอนแล้วมีสิ่งรบกวนไปด้วย หรือนอนแม้จะมีคนแปลกหน้ามากดออดก็จะยิ่งช่วยให้หมาสงบได้เก่งกว่าเดิม

3. การฝึกหมาให้ชอบอยู่ใกล้เจ้าของ

การฝึกเรื่องนี้นอกเหนือจากการเปิดโลกแล้ว ยังส่งผลให้การฝึกคำสั่งเรียกมาหา และการเดินในสายจูงทำได้ง่ายขึ้นมากขึ้นด้วย ในขั้นสูงสุดมันจะช่วยให้เราเดินกับหมาโดยไม่ต้องใช้สายจูงได้เลยด้วย !

สิ่งที่ต้องมี:

  • ขนมที่หมาชอบ
  • หมา

วิธีการ

  1. ใช้ชีวิตไปตามปกติ คอยสังเกตุหาจังหวะที่หมาเดินมาหาเรา
  2. หมาเดินมาหา
  3. ชม
  4. ให้รางวัล

หลักการเดียวกับทั้งสองกิจกรรมก่อนหน้านี้ โดยเราคาดหวังให้หมาชอบการเข้ามาหา และอยู่ใกล้ ๆ เรา โดยถ้าฝึกในวัยเด็กจะค่อนข้างง่าย เพราะหมาเด็กจะเป็นวัยที่เข้าหาเจ้าของตลอดเวลาอยู่แล้ว ดังนั้นเราแค่ให้รางวัลเวลาเขาเดินมาหาเราด้วยตัวเองก็พอ

สรุป

การ socialize หรือ การพาหมาเด็กไปเปิดโลกในช่วงวัยเด็กนั้นสิ่งสำคัญไม่ใช่จำนวนสิ่งต่าง ๆ ที่เขาจะได้เจอ แต่มันคือการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้เขาเวลาเจอสิ่งใหม่ ๆ และสร้างทักษะที่ช่วยให้เขารับมือกับทุกครั้งที่เขาเจออะไรใหม่ ๆ ทั้งระหว่างนี้ และหลังจากนี้ให้เขารู้สึกโอเคกับมัน ไม่เครียด ไม่กลัว และไม่จำเป็นต้องเข้าหา

โดยการฝึกที่ยกตัวอย่างไปทั้ง 3 แบบในบทความนี้สามารถทำได้ตลอดช่วงอายุของหมาทั้งหมด เพราะแม้ว่าช่วงเวลาที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือก่อนอายุ 4 เดือนของหมาเด็ก แต่สำหรับหมานั้นไม่มีคำว่าสายไป ไม่มากก็น้อยการฝึกนี้สามารถพัฒนาหมาได้ทุกวัย

สุดท้ายนี้อย่าลืมว่าการเปิดโลกคือวิธีการที่ตรงที่สุดในการทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นสำหรับหมา ดังนั้นอย่าลืมกลับไปทำกันนะครับ