หมาส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดมามีความอดทน แต่เป็นทักษะที่ผู้ปกครองต้องเป็นคนพัฒนาให้กับเขา เพราะหมาใจร้อนที่ขาดทักษะความอดทนนั้นจะนำมาซึ่งปัญหาได้อีกหลาย ๆ อย่าง เช่น ปัญหาความก้าวร้าว
Frustration Tolerance คืออะไร
Frustration Tolerance คือความอดทนต่อความไม่ได้ดั่งใจทั้งหลาย ตัวอย่างที่จะช่วยให้นึกภาพออกคือมนุษย์เด็กที่ลงไปนอนดิ้นกับพื้นเวลาที่พ่อแม่พาออกไปข้างนอกแล้วไม่ได้ดั่งใจ นั่นแหละครับภาพของการขาดทักษะนี้
หรือเวลาที่เราไปเจอรถจอดขวางในลานจอดรถ สำหรับคนที่มีทักษะความอดทนอยู่แล้ว เรื่องพวกนี้นั้นถือเป็นแค่ความไม่สะดวกเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่สำหรับคนที่ขาดทักษะนี้จะกลายเป็นอารมณ์เสียได้ง่าย ๆ แล้วยิ่งทำให้ชีวิตก็จะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย
กลับมาที่เรื่องของหมากันบ้าง แน่นอนว่าหมาเขาอาจจะไม่ได้สนใจการจราจรติดขัดเท่ากับเรา แต่ความไม่ได้ดั่งใจของเขามักจะเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ที่เราต้องทำกับเขาบ่อย ๆ เช่น ระหว่างอาบน้ำ เดินในสายจูง เวลาเขาเจอหมาอื่นและเราไม่ปล่อยให้ไปทักทาย หรือเวลาที่เขาชวนเล่นด้วยแต่เรากำลังทำงาน และเมื่อเขาขัดใจเขาก็จะแสดงออกคล้าย ๆ กับเวลาที่มนุษย์เด็กของเราขัดใจนั่นแหละ ก็คือการอาละวาด เช่นการร้อง การเห่า หรืออาจจะรวมไปถึงการงับ
ถึงตรงนี้แล้วเราน่าจะภาพกันพอสมควรแล้วว่าความอดทนในหมานั้นสำคัญยังไง เพราะนอกเหนือจากการทำให้การดูแลหมาของเราเองทำได้ง่ายขึ้น น่าปวดหัวน้อยลงแล้ว มันยังดีกับตัวหมาเองด้วย เพราะเขาจะเครียดกับสถานการณ์เหล่านั้นน้อยลงไปด้วย หรือพูดง่าย ๆ คือจะแฮปปี้กันทั้งสองฝ่าย
การสร้าง Frustration Tolerance
คำถามต่อไปคืออะไรที่ส่งผลต่อ Frustration Tolerance ในหมาบ้าง อะไรที่ทำให้หมาตัวหนึ่งอดทนมากกว่าอีกตัว
ปัจจัยที่ 1: ช่วงเวลาที่ฟาร์มก่อนเขาอายุ 2 เดือน
ในวัยแรกเกิดจนถึง 2 เดือนความแตกต่างระหว่างพี่น้องลูกหมาคือหมาที่ถูกแยกออกมาตัวเดียว หรือหมาที่เหลือเป็นตัวสุดท้ายในคอกมักจะมีความอดทนที่ต่ำกว่าตัวอื่น เหตุผลคือเขาไม่มีพี่น้องและแม่ที่จะเล่นด้วยกันได้ ซึ่งเป็นวิธีที่หมาพัฒนาทักษะนี้กับหมาด้วยกันเอง ตัวอย่างเช่นในช่วงที่ลูกหมายังทานนมแม่เป็นหลักอยู่ เมื่อเป็นเวลาที่แม่หมามาถึงลูกหมาทุกตัวจะวิ่งเข้าไปเพื่อพยายามทานนมจากแม่ และนั่นทำให้หลายครั้งลูกหมาที่มีพี่น้องหลายตัวจะไม่สามารถเข้าถึงได้ทันที และเริ่มเรียนรู้ที่จะอดทนรอ ในขณะที่ลูกหมาที่พี่น้องน้อย ๆ หรือพี่น้องถูกรับไปหมดแล้วจะไม่ต้องแบ่ง ไม่ต้องรอทำให้ทักษะความอดทนไม่ถูกพัฒนา และอาจถดถอยไปด้วย
ปัจจัยที่ 2: การเลี้ยงดูของเจ้าของ
ปัจจัยแรกนั้นผ่านไปแล้วและเราทำอะไรไม่ได้กับมัน ดังนั้นปัจจุบันที่เขากำลังอยู่กับเราตอนนี้คือปัจจัยเดียวที่สำคัญ เพราะไม่ว่าหมาเราจะเป็นหมาเด็ก หรือโต เขาจะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับเราเสมอ นั่นทำให้เราต้องเรียนรู้ให้ได้ว่าหมาเขาทำพฤติกรรมบางอย่างเพราะมีความต้องการจริง ๆ หรือเพื่อเรียกร้องความสนใจ
แก้ปัญหาลูกหมาอาละวาดด้วยการฝึกที่ถูกต้อง
แม้วิธีการฝึกของเราคือการฝึกเชิงบวก หรือ Force-free แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะตามใจหมา หรือปล่อยให้หมาทำอะไรก็ได้ เราฝึกการอาละวาดได้ด้วยการใช้วิธีการที่เป็นมิตรกับหมาในการสอนเขาให้มีขอบเขต
ดังนั้นเราจะเริ่มจากการลดพฤติกรรมอาละวาดของหมาผ่านการวิธีการเลี้ยงพื้นฐานดังนี้ครับ:
ลูกหมา 2 เดือนอาละวาดในกรง
ลูกหมาที่หมาอยู่กับเราใหม่ ๆ และต้องฝึกนอนในกรง จะมีการอาละวาดโวยวายได้ในทุกรูปแบบ และการเข้ากรงเป็นสถานการณ์ที่พบการอาละวาดบ่อยที่สุดเลย และเรามักจะสงสารทนไม่ไหวจนต้องปล่อยออกมา ซึ่งมักจะทำให้ครั้งถัดไปเขาจะอาละวาดแรงขึ้น เพราะเริ่มเรียนรู้ว่าการอาละวาด = ได้อิสระ
ในกรณีแบบนี้สิ่งที่เราควรทำในการฝึกเขานอนกรงคือ อย่างแรกช่วยให้เขาสบายที่สุดในการอยู่กรง ปูผ้าให้เขาสบาย ๆ มีน้ำเตรียมไว้ให้ และมีขนม หรือของเล่นให้เขากัดแทะเล่นในกรงได้ หลัก ๆ คือทำให้กรงเป็นที่ที่น่าอยู่สำหรับเขา อย่างที่สองคือถ้าเราเตรียมทุกอย่างไว้ให้และชัวร์ว่าเขาจะอยู่ได้อย่างสบายแล้วแต่เขายังคงไม่ยอม เราต้องเช็คให้ชัวร์ว่าของในกรงนั้นไม่มีอะไรที่จะทำให้เขาเจ็บตัวได้ก่อน และต้องปล่อยให้เขาอาละวาดไปจนกว่าจะใจเย็นลง เมื่อเขานิ่งแล้วจึงค่อยปล่อยเขาออกมา โดยในขั้นแรก ๆ ไม่ต้องนิ่งนานนะครับ แค่นิ่งได้ 10 วินาที เราก็ปล่อยเขาได้แล้ว และค่อย ๆ เพิ่มเวลาขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อที่จะให้เขาเรียนรู้ว่าการอยู่นิ่ง ๆ คือสิ่งที่ดี
ลูกหมาอาละวาดเวลาอุ้ม เวลาถูกจับตัว
สำหรับลูกหมาที่ไม่ชอบให้อุ้ม เวลาที่เราอุ้มเขาขึ้นมาเขามักจะดิ้น หรืออาจจะร้องไปด้วย (อาละวาด) สิ่งที่หลายคนทำพลาดคือการปล่อยเขาเวลาเขาเวลาเขาเริ่มดิ้น ซึ่งสำหรับหมาแล้วหมายความว่าการดิ้นจะนำมาซึ่งสิ่งที่เขาต้องการ ทำให้เขาดิ้นเยอะขึ้น และไม่อดทนต่อการอุ้ม ซึ่งเรื่องนี้ผมไม่แนะนำให้ปล่อยผ่าน
ในการอยู่ด้วยกันแล้วหมาควรที่จะชอบการอุ้ม และรวมไปถึงการสัมผัสในทุกรูปแบบได้นะครับ หรืออย่างน้อยควรที่จะทนได้ เพราะหลายครั้งที่เราจะจำเป็นจะต้องอุ้ม หรือจับให้เขานิ่ง เช่น เวลาอาบน้ำ ตัดเล็บ หรือพาไปหาหมอ นั่นทำให้การอาละวาดเวลาอุ้มนั้นเป็นเรื่องที่นำมาซึ่งความปวดหัวให้เราได้ในอนาคต และเป็นหนึ่งในสิ่งที่ฝึกง่าย และถ้าฝึกแล้วชีวิตเราและหมาจะดีขึ้นจริง ๆ
ดังนั้นในการอุ้มหมาแล้วเขาดิ้นคำแนะนำคือเวลาที่เขาดิ้นเพราะไม่ชอบ แน่นอนว่ามันคือสัญญาณว่าเราควรปล่อยแล้ว แต่ก่อนที่จะปล่อยให้เรารอเขาหยุดดิ้นก่อนครับ เริ่มต้นจากให้เขานิ่งได้สัก 10 วินาทีก่อนและปล่อย และค่อย ๆ เพิ่มเวลาขึ้นเรื่อย ๆ ทำแบบนี้บ่อย ๆ เขาจะเลิกดิ้นได้เลย
จาก 2 กรณีที่ผมยกตัวอย่างไปจะเห็นได้ว่าหลักการที่มีร่วมกันคืออย่าให้เขาได้สิ่งที่เขาต้องการเวลาที่เขาอาละวาด และเราต้องรอให้เขาหยุดอาละวาดก่อนถึงจะให้สิ่งที่เขาต้องการ โดยหลักการนี้จะสร้างทักษะความอดทนให้กับเขาได้ นอกจากสองสถานการณ์นี้เรายังสามารถปรับใช้ได้กับสถานการณ์อื่น ๆ ได้ด้วยหลักการเดียวกันนี้ครับ จะช่วยให้หมาอดทนให้เราได้แม้จะไม่ชอบก็ตาม
และแน่นอนว่านอกจากจะอดทนได้แล้ว สุดท้ายคือเราอยากจะให้เขาชอบสิ่งเหล่านี้ด้วยใช่ไหมครับ เราไม่ได้ต้องการแค่ให้เขาทนการอุ้ม แต่เราต้องการให้เขาชอบถูกอุ้ม ชอบนอนในกรง ซึ่งเรื่องนี้เราจะมาพูดคุยกันในบทความถัดไปนะครับว่า ทำยังไงหมาเราถึงจะชอบถูกอุ้ม ถูกกอด ชอบถูกอาบน้ำ หรือแม้แต่ชอบให้ตัดเล็บ