ไม่มีอะไรในโลกน่ารักเท่าลูกหมา โดยเฉพาะลูกหมาอายุ 2 เดือนที่เราได้เจอเขาครั้งแรก เป็นวัยที่ส่วนใหญ่เราก็จะพาเขาเข้าบ้านตอนอายุเท่านี้นี่แหละ แต่ต่อให้น่ารักขนาดไหนเรื่องนึงที่ทำหลาย ๆ บ้านเครียดกันยกใหญ่มาแล้วก็คือเรื่องขับถ่ายไม่เป็นที่นี่แหละครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถ้าไม่เตรียมตัวดี ๆ มันจะเครียดได้สุด ๆ ไปเลย และเพื่อเป็นการให้ช่วงแรกมันผ่านไปได้ง่ายขึ้น และให้ทุกท่านได้สนุกไปกับวัยเด็กของลูกหมาได้ง่ายขึ้น ผมมีหลักการวิธีเลี้ยงลูกหมา 2 เดือนแรกให้ขับถ่ายเป็นที่ไว้ประมาณนี้ครับ
อย่างแรกคือต้องบอกว่าการฝึกขับถ่าย เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ และควรจะเป็นสิ่งแรกที่เราจะฝึกเขา เพราะการฝึกขับถ่ายนั้นจะง่ายขึ้นมาก ๆ ถ้าเขาไม่เคยพลาดขับถ่ายผิดที่เลย แต่ถ้ามีพลาด 1 ครั้งแล้วมักจะไม่จบแค่ครั้งเดียว ดังนั้นเรื่องการฝึกขับถ่ายคือเรื่องแรกที่เจ้าของต้องรู้ไว้ตั้งแต่ก่อนที่ลูกหมาจะมาถึงบ้านเพื่อที่จะเริ่มได้เลยทันที
โดยเป้าหมายของการฝึกขับถ่ายคือ การสอนให้หมาขับถ่ายเฉพาะในที่ที่เรากำหนด เท่านั้น นั่นหมายถึงว่านอกจากเขาจะรู้ที่แล้ว เขาจะต้องอั้นได้ด้วย โดยขั้นตอนต่าง ๆ จะมีประมาณนี้
เตรียมตัวก่อนหมาเข้าอยู่
กำหนดให้เรียบร้อยว่าเราจะให้เขาขับถ่ายที่ไหน แต่ละบ้านอาจจะมีแนวคิดแตกต่างกัน โดยทางเลือกหลัก ๆ คือ หญ้าจริง, หญ้าเทียม พื้นปูน พื้นหินโรย หรือแผ่นรองฉี่ ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน
- หญ้าจริง คืออันที่ผมแนะนำถ้าใครทำได้ เพราะหมาชอบโดยธรรมชาติ และสะอาดที่สุดเนื่องจากหญ้าทำความสะอาดตัวเองได้ และไม่เก็บกลิ่นเท่าอย่างอื่น สามารถใช้ได้ทั้งนอกบ้าน และในบ้าน (ปลูกบนกระบะที่มีช่องระบายน้ำ ซึ่งผมแนะนำสำหรับหมาคอนโด) โดยมีข้อเสียคือเราต้องดูแลหญ้าไปด้วย ถ้าใครใช้หญ้าผมแนะนำหญ้าไทเป เพราะทนฉี่หมา และดูแลได้ง่ายกว่าพันธ์อื่น
- หญ้าเทียม จากประสบการณ์คือหมาจะยังถนัดอยู่ดี แต่ไม่สะอาดเท่าโดยเฉพาะเวลามีคราบอู๊ด ๆ น้อง ข้อดีคือยังไงมันก็ไม่ตาย แต่ก็ต้องทำความสะอาดบ่อยหน่อยเพราะค่อนข้างเก็บกลิ่น อยู่ข้างนอกสามารถฉีดน้ำทำความสะอาดได้ แต่จะยากถ้าใช้ในบ้านเวลาพยายามทำความสะอาดมันจะง่ายมากที่ฉี่จะหยดทั่วบ้านต่อให้เราจะมีกระบะรอง (อันนี้ประสบการณ์จริง!)
- พื้นหินกรวดโรย หมาสามารถฉี่ลงพื้นหินโรยได้ ซึ่งการดูแลจะไม่เยอะมาก ฉีดน้ำทำความสะอาดได้ และไม่เก็บกลิ่น และไม่เลอะเทอะเท่าหญ้าเทียม แต่เหมาะกับนอกบ้านเป็นหลักเพราะทำความสะอาดในบ้านยาก เหมาะกับบ้านที่ข้างนอกบ้านปลูกหญ้าไม่ได้
- พื้นปูน หมาจะไม่ค่อยถนัดโดยสัญชาตญาณเท่าไหร่ แต่ก็เป็นอะไรที่เราสามารถฝึกได้ ข้อดีคือไม่ต้องดูแลเยอะ แต่ค่อนข้างเก็บคราบ และกลิ่น อีกข้อเสียหนึ่งคือเพราะพบเป็นวัสดุพื้นที่พบได้บ่อย ทำให้หมาที่ฉี่บนพื้นปูนเป็นประจำจะฉี่บนถนน หรือทางเท้าไปเรื่อยเวลาเราพาเดืนออกนอกบ้าน
- แผ่นรองฉี่ หลายบ้านและคอนโดมีใช้แผ่นรองฉี่เป็นหลักแบบเป็นกระดาษใช้แล้วทิ้ง มักใช้ภายในบ้านเป็นหลัก ซึ่งโดยส่วนตัวผมมองว่าทำให้การรักษาความสะอาดภายในบ้านทำได้ยาก เพราะถ้าไม่ใช้แผ่นใหญ่ ๆ จะพลาดได้ง่าย กับอีกอย่างที่ต้องระวังคือหลายครั้งที่หมาที่ชินกับการฉี่ลงแผ่นกระดาษจะเริ่มขยับไปฉี่ลงผ้าได้เช่นกัน แต่สำหรับหลายครอบครัวแล้วอาจจะไม่มีทางเลือกมากนัก ขอแนะนำให้พยายามวางไว้บริเวณที่ดูแยกส่วนจากตัวบ้านที่สุดที่เป็นไปได้ เช่น ระเบียง หรือห้องน้ำ เพื่อช่วยป้องกันความสับสนให้น้องหมา
- พื้นที่เป็นวัสดุเดียวกับภายในบ้าน เช่น ผ้า ไม้ หรือกระบื้อง อันนี้จะไม่แนะนำมาก ๆ เพราะมันจะทำให้เขาเคยชินกับการขับถ่ายบนพื้นเหล่านี้ แม้เราจะแบ่งบริเวณไว้แล้ว และเขาไม่มีปัญหากับบ้านตัวเอง แต่จะยังมีโอกาสสูงที่จะขับถ่ายในสถานที่อื่นที่เป็นพื้นแบบนี้ เช่น ในห้าง ร้านกาแฟ หรือบ้านเพื่อน
**พื้นที่ที่เรากำหนดไว้ควรที่จะมีรั้วกั้นล้อมไว้เพื่อไม่ให้เขาเดินออกมาจากนอกบริเวณขับถ่ายได้เมื่อเข้าไปแล้ว
สุดท้ายคือในช่วงแรกเราต้องมีกรงไว้สำหรับฝึกขับถ่าย ควรหากรงขนาดที่ใหญ่กว่าตัวเขาเล็กน้อย ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป อย่าลืมใส่น้ำดื่มไว้ให้เขาในกรงนะครับ และไม่ต้องกลัวครับว่าผมจะบอกให้เลี้ยงหมาแบบขังกรง อันนี้เราจะใช้แค่ช่วงสัปดาห์แรก ๆ เท่านั้นเพื่อฝึกขับถ่าย สุดท้ายแล้วเขาจะอยู่กับเราไปทั่วบ้านนั่นแหละ
เมื่อลูกหมามาถึงบ้าน
1. อย่างแรกคือวางเขาลงที่พื้นที่ขับถ่ายทันที:
ลูกหมาวัย 2 เดือนมักจะปวดฉี่จากการเดินทาง ดังนั้นสิ่งแรกที่ทำเมื่อมาถึงคืออุ้มเขาวางลงบนพื้นที่ที่เราเตรียมไว้ให้เขาขับถ่าย ส่วนใหญ่แล้วลูกหมาเขาจะฉี่ทันที ถ้าไม่ก็ให้รอเขาฉี่ภายใน 10 นาที เมื่อฉี่แล้วให้รางวัลเป็นอาหารเม็ดของเขาด้วยนะครับ และหลังจากฉี่แล้วอย่าเพิ่งให้เขาออกมานะครับ ให้เวลาอีกสัก 5 นาทีเผื่อเขาจะอึด้วย
2. เล่นกับเขา 1 ชั่วโมงหลังขับถ่าย
หลังจากที่เขาถ่ายเสร็จแล้วแปลว่าเขาไม่มีอะไรอยู่ข้างในแล้ว ซึ่งแปลว่าเราจะมีเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงที่จะเล่นกับเขาได้โดยไม่ต้องกังวล โดยในวันแรกแบบนี้พยายามให้เขาเป็นคนเลือกว่าจะทำอะไร ปล่อยเขาสำรวจตัวเรา และบ้านเราโดยยังไม่ต้องพยายามฝึกอะไรเขามาก แต่อย่าคลาดสายตา
3. ต่อด้วยการพาเขาเข้ากรง 2 ชั่วโมง
เมื่อหมด 1 ชั่วโมงแล้วเราต้องเอาเขาเข้ากรงแล้วครับ ลูกหมาวัยนี้ต้องการการนอนเยอะมาก แต่ก็จะตื่นเต้นกับทุกอย่างเช่นกัน ดังนั้นการอยู่ในกรงจะช่วยให้เขาผ่อนคลาย และหลับได้ได้ง่ายขึ้นเพราะไม่มีอะไรน่าสนใจมากนัก และเหตุผลที่เขาต้องอยู่ในกรงในช่วงของการฝึกขับถ่ายคือโดยปกติแล้วหมาจะไม่ยอมขับถ่ายในกรงตัวเองอย่างเด็ดขาด นั่นคือการฝึกให้เขาอั้น เพราะกระเพาะปัสสาวะของลูกหมาวัย 2 เดือนจะอั้นได้ไม่นานถ้าเราไม่ฝึก
4. ครบเวลาแล้วให้อุ้มเขาวางลงที่พื้นที่ขับถ่ายอีกครั้บ
คล้ายกับข้อแรกเลย คือ ลูกหมาวัย 2 เดือนมักจะอั้นได้นาน 3 ชั่วโมง ดังนั้นตอนนี้คือ 3 ชั่วโมงจากการฉี่ครั้งแรกแล้ว เราก็ให้โอกาสเขาในการฉี่อีกครั้ง ซึ่งถ้าเขาฉี่เขาจะมีเวลาอีก 1 ชั่วโมงในการอยู่กับเรานอกกรง แต่ถ้าเขาไม่ฉี่ให้พาเขากลับเข้ากรงอีกครั้ง และรอ 30 นาทีก่อนจะลองใหม่อีกครั้ง
* ในตอนกลางคืนเราจะให้ลูกหมานอนในกรงตอนกลางคืนนะครับ ซึ่งโดยปกติแล้วเวลากลางคืนลูกหมาเขาจะสามารถอั้นข้ามคืนได้ แต่ถ้าหากเขาร้องให้เราพาไปได้ครับ
* ส่วนตอนเช้าไม่ว่ายังไงให้พาเขาไป **ทันที** ที่เราตื่นครับ ให้เป็นสิ่งแรกที่ทำเลย เพราะลูกหมาหลังจากอั้นข้ามคืนแล้วถ้าตื่นเมื่อไหร่จะไม่ค่อยไหว และถ้าเขาขับถ่ายในกรงเมื่อไหร่การฝึกจะยากขึ้นมหาศาล ดังนั้นตื่นแล้วพาไปทันทีครับ
นั่นคือ 4 ขั้นตอนหลัก ๆ ในการฝึกหมาเด็กขับถ่ายในวันแรก และในวันถัด ๆ ไปเราจะเริ่มต่อยอดกัน ถ้าวันแรกทุกอย่างเรียบร้อยดี ไม่มีพลาด วันต่อมาเราสามารถขยับเวลาเพิ่มขึ้นได้อีก 30 นาทีแบบนี้ครับ
– วันที่ 2 อยู่นอกกรงได้ 1 ชั่วโมง 30 นาทีหลังขับถ่าย และอยู่ในกรง 1 ชั่วโมง 30 นาที
– (ถ้ามีพลาดให้กลับไป นอกกรง 1 ชั่วโมง ในกรง 2 ชั่วโมงเหมือนเดิม)
– ถ้าเรียบร้อยดีวันถัดไป ให้เวลาอิสระ 2 ชั่วโมง เวลากรง 1 ชั่วโมง
– วันที่สี่ นอกกรง 2 ชั่วโมง 30 นาที ในกรง 30 นาที
ถ้าเขาอยู่นอกกรงเกิน 2 ชั่วโมง 30 นาทีได้แล้ว วันถัด ๆ ไปคือการเพิ่มเวลานอกกรง โดยคงเวลาอยู่ในกรงไว้ที่ 30 นาทีเหมือนเดิม
– วันที่ 5: นอกกรง 3 ชั่วโมง ในกรง 30 นาที
– วันที่ 6: นอกกรง 3 ชั่วโมง 30 นาที ในกรง 30 นาที
– วันที่ 7: นอกกรง 4 ชั่วโมง ในกรง 30 นาที
ถ้าทุกวันผ่านไปได้ด้วยดีโดยยังไม่มีพลาด ถึงจุดนี้แล้วการฝึกขับถ่ายของเราจะใช้เวลา 1 สัปดาห์พอดี เราสามารถคงตารางไว้แบบนี้ได้เรื่อย ๆ ครับ อาจจะยืดหยุ่นได้มากขึ้นเรื่อย ๆ
เลิกใช้กรงได้เมื่อไหร่
ต่อมาคือขั้นตอนของการเลิกใช้กรง ว่าเราจะหยุดใช้เมื่อไหร่ และต้องมองจากอะไรบ้าง คำตอบคือเราจะเลิกใช้กรงได้เมื่อเราเริ่มสังเกตุว่าเขามีพฤติกรรมการเรียกให้พาไปฉี่ เช่น
– ร้องในเวลาที่ใกล้ ๆ กับที่ควรฉี่
– เดินไปรอทางไปฉี่
– นั่งรอตรงประตูและจ้องเรา
พฤติกรรมแบบนี้นั่นหมายถึงว่าเราประสบความสำเร็จโดยสมบูรณ์แล้ว เลิกใช้กรงได้เลยครับ หรืออาจจะใช้แค่เวลานอนก็ได้
หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ โดยเฉพาะถ้าใครกำลังเครียดกับเรื่องนี้อยู่ และเดี๋ยวหลังจากนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังต่อครับว่านอกเหนือจากการขับถ่ายแล้ว ปัญหาที่เราจะเจอได้ในลุกหมาวัยนี้จะมีอะไรได้อีกบ้าง และจะรับมือกับมันยังไง