เรื่องหนึ่งที่เจ้าของมือใหม่ต้อง คือเจอวันแรก ๆ ที่รับลูกหมาเข้ามาอยู่บ้านเข้าอาจจะมีร้องโวยวายบ้าง โดยเฉพาะถ้าเรากำลังฝึกขับถ่าย หรือฝึกให้นอนกรงอยู่ (ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรทำตั้งแต่วันแรก) และเรารู้กันว่าการที่ลูกสุนัขร้องไม่หยุดนั้นทั้งน่าปวดหัว และน่าสงสารเป็นที่สุด วันนี้เรามาดูวิธีรับมือกันครับ

ลูกหมาร้องไม่หยุด ปกติไหม ?

เรามักจะรับลูกหมามาอยู่ด้วยตอนที่เขาอายุประมาณ 2 เดือน นั่นหมายถึงวันที่เรารับเขามาคือวันที่เขาถูกแยกจากแม่ และพี่น้องในคอก พร้อม ๆ กับมนุษย์ที่เคยดูแลเขาที่ฟาร์ม และยังต้องเดินทางไกลกับคนแปลกหน้ามาอยู่ในที่ที่ไม่คุ้นเคย และไม่พอยังถูกกักบริเวณไว้ในกรงด้วย นั่นหมายถึงว่าวันนี้คือวันที่เครียด และน่ากลัวที่สุดในชีวิตของเจ้าลูกหมา 2 เดือนอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้นในวันแรกนี้ลูกหมาเขาอาจจะร้อง อาจจะเห่า หรือหอนเวลาที่อยู่คนเดียวได้เป็นเรื่องปกติ เพราะนี่คือพฤติกรรมปกติสำหรับลูกหมาที่ถูกแยกจากครอบครัวเก่า

เพื่อเข้าใจสถานการณ์ให้มากขึ้นมาลองนึกกันครับว่าในมุมของลูกหมาเนี่ยวันแรกที่เขาเข้าบ้านเรามามีอะไรเกิดขึ้นกับเขาบ้าง

  • วันนี้เขาถูกแยกจากแม่ และพี่น้องหมา
  • นอกจากครอบครัวหมาแล้วเขาก็ถูกแยกจากมนุษย์ที่เลี้ยงเขามาด้วย
  • เป็นวันที่ต้องเดินทางไกล
  • วันนี้ต้องมาอยู่ในที่ที่ไม่คุ้นเคย
  • มีคนแปลกหน้าที่พยายามจะยุ่งวุ่นวายกับเขาตลอดเวลา
    ทั้งหมดนี้ทำให้วันนี้คือวันที่เขาเครียดที่สุดตั้งแต่เขาเกิดมาอย่างไม่ต้องสงสัย และอย่าลืมว่าสำหรับเราแล้วแม้เราจะเอ็นดูเขาขนาดไหน สำหรับเขาแล้ววันนี้เรายังคงเป็นคนแปลกหน้าที่เพิ่งเจอกันวันแรกเท่านั้น นี่แหละครับพื้นฐานของเขา ไม่แปลกใช่ไหมครับที่เขาจะร้องไม่หยุดในวันแบบนี้ ทีนี้เราทำอะไรได้บ้าง ?

แก้ปัญหาลูกหมาร้องไม่หยุดในวันแรก ๆ

ใน 3 วันแรกการที่ลูกสุนัขร้องไม่หยุดนั้นส่วนใหญ่คือการต้องการการปลอบปะโลม หรืออยากได้รับความอบอุ่น เราในฐานะคนแปลกหน้าต้องใจเย็นกับเขาในช่วงนี้ อย่าเพิ่งพยายามฝึกอะไรเยอะ หรือพยายามที่จะชวนเล่นถ้าเขาไม่ต้องการ ในวันแรกนี้คือวันที่เราควรจะให้อิสระเขาในการทำอะไร หรือไม่ทำอะไร ค่อย ๆ ดูไป

ส่วนช่วงนี้ถ้าเขาร้องเรียกเราสามารถเข้าหา ลูบตัวเขาเบา ๆ ได้ถ้าเขาอนุญาต ช่วงนี้เรายังไม่ต้องกลัวเขาจะนิสัยเสีย หรือติดการร้องเรียกนะครับ ช่วงนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการช่วยเขาปรับตัว

ในช่วงนี้ควรที่จะอยู่ใกล้ ๆ เขาอย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว ถึงแม้เราจะให้เขาอยู่ในกรงก็ตาม แต่เขายังกล้า ๆ กลัว ๆ กับที่ใหม่ และยังยากที่จะอยู่คนเดียวอย่างสงบได้ ถึงแม้จะยังเป็นคนแปลกหน้าแต่เขาก็จะยังรับรู้ได้ว่าอยู่กับเราแล้วจะปลอดภัย นั่นทำให้ถ้าถามผมเวลาที่เหมาะกับการเข้าอยู่ของหมาที่สุดคือช่วงวันหยุดยาว หรือการลาวันจันทร์/ศุกร์เพื่อหยุดยาว

คืนแรก ๆ เขาควรที่จะอยู่ในกรงเพื่อฝึกขับถ่าย (เรื่องฝึกขับถ่ายเราจะมาว่ากันอีกที) ถ้าเขามีร้องบ้าง สิ่งที่เราทำได้คือการสอดมือ หรือนิ้วเข้าไปในกรงเพื่อให้เขาแทะ หรือลูบตัวเขา จะช่วยให้เขาสงบได้ง่ายขึ้น การใส่ของเล่นที่มีอาหารอยู่ข้างในเข้าไปก็เป็นตัวช่วยที่ทำให้เขากินเพลิน ๆ จนเผลอหลับไปได้ง่าย ๆ ในคืนนี้ผมจะไม่แนะนำให้ใส่ผ้า หรือของเล่นที่เป็นผ้าเข้าไปในกรง เพราะบางฟาร์มอาจให้เขาขับถ่ายบนผ้า และทำให้เขาฉี่ใส่กรงเขาได้ นั่นจะยิ่งทำให้การฝึกขับถ่ายยากขึ้นครับ

เมื่อผ่าน 3 วันแรกไปได้แล้ว เขาจะเริ่มร่าเริงมากขึ้น และเริ่มที่จะรู้ว่าเขาจะต้องอยู่ที่นี่ นั่นจะเป็นช่วงของการที่เขาเริ่มต้นเรียนรู้วิถีชีวิตใหม่ และพยายามปรับตัวเข้าหาเราโดยช่วงนี้จะใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์เพื่อชินกับกิจวัตรใหม่ และเขาจะเริ่มเป็นตัวเอง และร่าเริงขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนที่จะสามารถรู้สึกได้จริง ๆ ว่าที่นี่คือบ้านของเขาภายใน 3 เดือน

สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้หมาร้องไม่หยุด

นอกจากนั้นแล้วยังมีสาเหตุที่กระตุ้นให้เขาร้องในสถานการ์แบบนี้มีได้หลากหลายครั้บ ตั้งแต่

  • ลูกหมาที่ไม่เคยนอนในกรงเลยอาจจะร้องเพราะเขาไม่คุ้นกับสถานที่แบบนี้ เขาอาจจะกลัว หรือหยุดหงิดจากการที่ไม่ได้มีอิสระเท่าเดิม หรือขยับตัวไม่ถนัด
  • การที่ลูกหมาร้องไม่หยุดในเวลากลางคืนอาจร้องเพราะความเงียบทำให้เขารู้สึกเหงา และไม่มีแม่หรือพี่น้องให้ซุกตัวนอนขดด้วยกันเหมือนก่อนหน้านี้
  • ลูกหมาที่ร้องไม่หยุดในเวลากลางวันเวลาที่เจ้าของไม่อยู่อาจเป็นเพราะเขาหงุดหงิดที่ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว
  • ลูกหมาที่ต้องอยู่ในกรงในเวลาที่คนอื่น ๆ ในบ้านทำอะไรจุกจิก ๆ อยู่อาจร้องไม่หยุดเพราะหงุดหงิดที่ไม่สามารถมีส่วนร่วมได้ และร้องเรียกให้ปล่อยเขา
  • ลูกหมาที่ต้องอยู่ในกรงนาน ๆ อาจร้องไม่หยุดด้วยเหตุผลว่าเขาต้องการอาหาร น้ำ หรือต้องการ

6 วิธีการแก้ปัญหาลูกหมาร้องไม่หยุด

1. หยุดสนใจเวลาที่ลูกหมาร้องไม่หยุด

เวลาที่เราให้เขาเข้ากรง และเราเดินออกมาแล้ว เราควรที่จะไม่สนใจในช่วงแรกที่เขาร้อง โดยในช่วงแรกนั้นลูกหมาจะร้องเพื่อเช็คว่าเราอยู่ใกล้ ๆ ไหม ถ้าเราไม่ตอบสนองทันที และรอให้ลูกหมาเขาจัดการตัวเองก่อนสักแปปนึง เขาอาจจะหลับไปได้เองโดยที่เราไม่จำเป็นต้องกลับเข้าไปหาเขา

2. ปลอบใจเขาได้ถ้ายังร้องไม่หยุด

ถ้าในขั้นแรกถ้าเราเมินเขาแล้ว แต่เขายังคงร้องไม่หยุด หรือร้องนานกว่า 2 นาที เราอาจจะต้องยอมกลับเข้าไปหาเขาครับ เพราะ ณ จุดนี้เราจะถือว่าเขาร้องด้วยความกังวลแล้ว และสำคัญมากที่เราจะเข้าไปปลอบเขาหน่อย เพราะถ้าปล่อยไปเรื่อย ๆ ความกังวลนี้จะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และส่งผลเสียในระยะยาวต่อการจัดการความเครียดของหมาเมื่อเขาโตไปแล้ว ในการเข้าไปนั้นรอจังหวะที่เขาพักจากการร้อง คือช่วงที่เขาเงียบอยู่สัก 5 วินาทีก่อนที่จะเข้าไปจะดีที่สุดครับ เพื่อไม่ให้เขาติดการเรียกหาเราด้วยการร้อง

3. ลดระยะเวลาที่ให้เขาอยู่คนเดียวลง

ถ้าลูกหมา 2 เดือนเรายังคงร้องไม่หยุดอยู่ นั่นหมายความว่าเราอาจจะให้เขาอยู่คนกรงคนเดียวนานเกินไปต่อครั้ง และอาจจะต้องค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้นในการให้เขาอยู่คนเดียวในกรงมากขึ้น เช่น ถ้าปกติเราให้เขาอยู่ในกรงคนเดียว 2 ชั่วโมง ให้ลองลดลงมาเหลือ 1 ชั่วโมงครึ่งก่อน ถ้าเขาไม่ร้องแล้วเราค่อย ๆ เพิ่มกลับไปทีละนิด แต่ถ้าเพิ่มแล้วร้องให้ถอยกลับมาหน่อย

4. ทำให้กรงน่าอยู่ขึ้น

หลักการง่าย ๆ คือถ้าเราอยากให้เขาอยู่ในกรงการอยู่ในกรงควรจะเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับลูกหมา ทำได้โดยเริ่มจากวางกรงไว้ในที่ที่มีคนในบ้านอยู่ หรือสัญจรไปมาเยอะที่สุด เช่น ห้องนั่งเล่น สำหรับเวลากลางวัน และอีกกรงไว้ในห้องนอนเวลากลางคืน

นอกจากนั้นเราสามารถเตรียมน้ำใส่ไว้ในกรงให้เขามีดื่มได้ตลอดเวลาได้ ในกรงเราสามารถใส่ของเล่นสำหรับกัดแทะให้เขาฆ่าเวลา หรือขนมกัดแทะเช่นตัวเดียวอันเดียววัว หรือชีสแท่งก็จะช่วยให้เขาอยู่ในกรงได้มีความสุขขึ้นมาก ๆ นอกจากนั้นสำหรับหมาบางตัวที่ไม่กัดผ้าเราสามารถใส่เบาะ และผ้าห่มให้เขาในกรงได้ด้วย

5. เช็คความต้องการพื้นฐาน

เช็คให้ดีว่าลูกหมาได้รับอาหารเพียงพอ และมีน้ำดื่มในพื้นที่ของเขา และที่สำคัญสำหรับหมานั้นโดยปกติแล้วจะไม่ยอมขับถ่ายในที่ที่เขานอน นั่นหมายถึงว่ายกเว้นกรณีไม่ไหวจริง ๆ หมาจะไม่ยอมขับถ่ายในกรง แต่สำหรับลูกหมา 2 เดือนนั้นเขาเขาจะยังอั้นได้ไม่นาน อย่างมากคือ 3 ชั่วโมงเท่านั้นครับ ดังนั้นระหว่างนี้เราต้องไม่ให้เขาอยู่ในกรงนานเกินความสามารถในการอั้นของเขา

โดยหลักการง่าย ๆ สำหรับลูกหมาแล้วนั้นคือเขาจะอั้นได้เท่ากับ จำนวนเดือนของอายุ + 1 หมายถึงว่าลูกหมา 2 เดือนจะอั้นได้ 3 ชั่วโมง ลูกหมา 3 เดือน 4 ชั่วโมง และลูกหมา 4 เดือนจะได้ 5 ชั่วโมง ไล่ตามนี้ไปครับ และไม่ว่าหมาจะอายุเท่าไหร่ก็ไม่ควรให้อั้นนานเกิน 6 ชั่วโมงบ่อย ๆ แม้ว่าเขาจะอั้นได้ เพราะการอั้นเกิน 6 ชั่วโมงทำให้เป็นนิ่วได้ครับ

6. เล่นด้วยกันก่อนให้อยู่คนเดียว

ลูกหมาที่เหนื่อยกำลังดีจะยิ่งหลับเร็ว และลูกหมาส่วนใหญ่จะร้องไปหลับไปไม่ได้ นั่นหมายถึงก่อนที่จะให้เขาเข้ากรง การมีกิจกรรมเล่นกับเขาเล็ก ๆ น้อย ๆ จะช่วยได้มาก

กิจกรรมดังกล่าวสามารถเป็นการออกกำลังกาย เช่น การพาไปเดินเล่น หรือกิจกรรมที่ใช้สมอง เช่น การฝึก หรือการให้เล่นของเล่นแบบใช้สมองก็ได้ครับ สำหรับลูกหมาใช้เวลาแค่ประมาณ 15 นาทีต่อครั้งก็พอแล้ว ถ้ามากกว่านี้เขาจะเริ่มเหนื่อยเกินไป และคึกกว่าเดิมด้วยความหงุดหงิดแทน

การเตรียมกรงหรือคอกให้หมานอนได้อย่างสงบสุข

  • สิ่งแรกที่สำคัญคือน้ำดื่มสำหรับหมา ในกรงควรมีน้ำให้เขาเพื่อให้หมาสามารถเข้าถึงน้ำได้ตลอดเวลา
  • มีผ้าตรงพื้นกรงให้มันนุ่ม และไม่เย็นเกินไป
  • ให้ของเล่นแทะกับเขาไว้แทะเล่นในกรง เพราะการแทะนั้นเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลายสำหรับหมา ของเล่นแทะ ยี่ห้อแนะนำเช่น Nylabone https://s.shopee.co.th/7fH9n3wLuj หรือ https://s.lazada.co.th/s.qPLoI?cc
  • ของเล่นอีกประเภทที่ทิ้งไว้ในกรงได้คือของเล่นที่ใส่อาหารไว้ข้างในได้ (Food dispenser) ยี่ห้อแนะนำ เช่น Kong  https://s.shopee.co.th/8ADQNuIKVa หรือ https://s.lazada.co.th/s.qPLPm?cc
  • ลูกหมา 2 เดือนบางตัวถ้าหลับยากมาก ๆ อาจจะต้องหาผ้ามาคลุมกรงเขเพื่อลดสิ่งรบกวน และลดความสว่างเพื่อช่วยผ่อนคลาย
  • มีสินค้าจำพวกเสปรย์ที่โฆษณาว่าช่วยหมาผ่อนคลายที่สามารถลองได้ แต่จากประสบการณ์นั้นไม่ได้ส่งผลเท่าไหร่ เพราะแม้จะเป็นกลิ่นที่ช่วยผ่อนคลายได้เล็กน้อย แต่ตัวเสปรย์สร้างกลิ่นใหม่ขึ้นมาเพิ่มและทำให้หมาตื่นเต้นไปด้วยเวลาที่เราฉีด
  • สุดท้ายและสำคัญมากคืออย่าขังเขานานเกิน อย่าลืมว่าจุดประสงค์ของการให้นอนในกรงคือเพื่อให้เขาหลับพักผ่อน ถ้าเราขังนานไปจากสถานที่ผ่อนคลายกรงจะกลายเป็นคุกสำหรับเขาขึ้นมาทันที โดยรอบการนอนของหมาจะอยู่ที่ประมาณ 45 นาทีต่อครั้ง ดังนั้นนอกเหนือจากตอนกลางคืนแล้วเราควรให้เขาอยู่ในกรงครั้งละ 45 นาที จนถึง 2 ชั่วโมงเท่านั้น

3 เหตุผลที่ไม่ควรปล่อยให้หมาเด็กเล่นจนหมดแรง

ทั้งหมดนี้จะเป็นตัวช่วยให้กรงของเขาน่าอยู่มากขึ้นและง่ายขึ้นที่ลูกหมาจะผ่อนคลาย นอกเหนือจากการเตรียมสถานที่แล้วอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังไว้คือพยายามอย่าใช้วิธีทำให้หมาเหนื่อยจนหลับไปเอง โดยการพาไปเดินนาน ๆ หรือปล่อยให้วิ่งไปมาเยอะ ๆ เหตุผลสำคัญ 3 ข้อที่ไม่ควรทำ คือ

  1. วิธีนี้ได้ผลแค่ครั้งแรก ๆ – การออกกำลังกายมากเกินไปหมาจะแข็งแรงขึ้น และต้องออกกำลังกายนานขึ้น สุดท้ายคุณจะได้หมาที่เหมือนไม่เป็นมาแทน
  2. ลูกหมายิ่งเหนื่อยยิ่งคึก – หมาที่เหนื่อยที่ง่วงจะมีพฤติกรรมฝืนสังขาร คือพอเหนื่อยเขาจะยิ่งพยายามฝืนตัวเองเล่นมากขึ้นไปอีก เขาจะเล่นรุนแรงขึ้น และจะยิ่งควมคุมตัวเองได้ยากขึ้น จนกว่าจะเหนื่อยสุด ๆ ทนไม่ไหวไป
  3. ลูกหมา 2 เดือนไม่ควรออกกำลังกายเยอะเกินไป – ลูกหมาควรออกกำลังกายวันละหลาย ๆ ครั้ง แต่ครั้งละสั้น ๆ ประมาณ 10 นาที การให้เขาออกกำลังกายนาน ๆ ในช่วงก่อนโตเต็มที่โดยเฉพาะกับหมาขนาดใหญ่นั้นส่งผลต่อพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อ และกระดูกที่ไม่แข็งแรง และอาจพิการได้

หัวใจสำคัญของแก้ปัญหาลูกหมาร้องไม่หยุด และช่วยให้ลูกหมา 2 เดือนปรับตัวกับการอยู่ในกรงคือการช่วยให้เขามองเห็นว่ากรงคือสถานที่สำหรับให้เขาได้ผ่อนคลายอย่างสบายใจโดยไม่มีอะไรมารบกวน เราทำได้โดยการทำให้ที่นอนในกรงนุ่มสบาย มีของเล่นให้เขาเล่นคนเดียวในนั้น พร้อมกับใช้กรงเพื่อให้เขานอน และไม่ปิดกรงนานเกินไป การทำแบบนี้จะช่วยให้เขานอนหลับในกรงได้อย่างสงบมากขึ้น และทำให้พฤติกรรมการร้องในกรงค่อย ๆ หายไป แต่อีกสิ่งสำคัญที่ต้องระวังในการแก้ปัญหาหมาร้องในกรงคืออย่าใช้วิธีการพาให้เหนื่อย เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลแล้วยังส่งผลเสียต่อสุขภาพ และพัฒนาการในหมาเด็กด้วยครับ

เมื่อไหร่ที่ควรกังวล

การที่ลูกหมาร้องในกรงเป็นเรื่องปกติมาก ๆ ครับ โดยเฉพาะในวันแรก ๆ ที่มาอยู่ด้วยกัน แต่ถ้าเราเริ่มสังเกตว่าเขาดูเครียดมาก ๆ และทำทุกวิธีในข้างต้นไปแล้วยังคงร้องไม่หยุด อาจจะต้องปรึกษาสัตวแพทย์เพื่อเช็คสุขภาพว่ามีอะไรในด้านสุขภาพที่ทำให้เขาร้องไม่หยุดไหม หรือถ้าพบแล้วว่าไม่มีก็อาจจะถึงจุดที่เรามองหาครูฝึกมืออาชีพเพื่อช่วยแก้ปัญหาพฤติกรรมนี้ครับ

บทความอื่น ๆ สำหรับลูกหมา 2 เดือน: